“ศุภวุฒิ – เกียรติพงศ์” จับตาไตรมาส 2 ปีหน้า หัวเลี้ยวหัวต่อเศรษฐกิจ

04 ต.ค. 2565 | 13:48 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2565 | 20:52 น.

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” และ “เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา” 2 นักเศรษฐศาสตร์ ประเมินเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย จับตาไตรมาส 2 ปีหน้า ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเศรษฐกิจ แนะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดทั้งเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเฟ้อ และการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 เรื่องเศรษฐกิจไทย ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลก ว่า ในระยะสั้นยังเป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เศรษฐกิจต้องไปในทิศทางที่ดี เพราะถ้าไปทิศทางไม่ดีแล้วจะแก้ยาก 

 

ขณะเดียวกันยังเป็นห่วงเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นมาแล้วปีครึ่ง แสดงว่า มีการซื้อสินค้าเข้ามามากกว่าการขายสินค้า โดยปัจจุบันขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากนี้ไปเชื่อว่าน่าจะรุนแรงขึ้นอีก และคงต้องมีเงินทุนอื่นไหลเข้ามาทดแทน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหา 

“ถ้าเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดี โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นจากล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2565 มีเข้ามา 1 ล้านคนคงไม่พอ ต้องดันให้ได้ 1.5 - 2 ล้านคน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 - กุมภาพันธ์ 2566 อาจจะช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดดุลได้” 

 

พร้อมกันนี้ยังอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ส่วนต่างแคบลง เพราะปัจจุบันดอกเบี้ของสหรัฐฯ ปรับขึ้นไปในระดับที่สูงมาก ขณะที่ไทยต่ำมาก ถือเป็นจุดเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

 

อีกทั้งในช่วงปีหน้ายังอยู่ในช่วงของการเลือกตั้งด้วย ซึ่งต้องจับตาเป็นพิเศษ ส่วนระยะยาวสิ่งสำคัญคือการปรับเปลี่ยนรโครงสร้างการผลิตรองรับการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด

ด้าน ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลก ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.1% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 4.3% และปรับลงมาที่ 3.9% ในปี 2567 ล่าสุดเห็นสัญญาณการส่งออกที่เริ่มแผ่วลงอย่างชัดเจน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การท่องเที่ยวเริ่มปรับดีขึ้น

 

ทั้งนี้ธนาคารโลกได้ติดตามสถานการณ์ Recession หรือ เศรษฐกิจถดถอย หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ รับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงไม่ไหว และปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยแบบกระชากก็ส่งผลให้เกิด Technical Recession หรือ ภาวะถดถอยทางเทคนิค เพราะเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส เกิดขึ้นระดับโลกได้

 

“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เมื่อเทียบกับในอาเซียน เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง ด้านการส่งออกเริ่มแผ่วชัดเจน เนื่องจากมีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ส่วนการประมาณการเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ไม่ได้มองเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ Recession เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีพื้นที่การคลังเพียงพอ” 

 

ส่วนไทยเอง ประเมินว่า จะสามารถรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงได้ และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันคงกังวลกับเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้