กุ๊ก เดินหน้าองค์กร สู่ความยั่งยืน หนุนชุมชนแข็งแรง

09 ก.ย. 2565 | 16:51 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2565 | 23:53 น.

“น้ำมันพืชกุ๊ก” ชูวิชันเดินหน้านำองค์กรสู่อาเซียน ชูนวัตกรรม พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการ CSR ทั้งการคัดแยกขยะ การบำบัดน้ำลำคลอง ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างชุมชนแข็งแรง

หลังก่อตั้งบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ในปี 2517 ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งเป็นองค์กรชั้นนำของอาเซียนในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตจากพืชน้ำมัน ด้วยนวัตกรรมด้านกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ และบริการ มีคุณธรรม รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพันธกิจในการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

 

ทำให้บริษัทมุ่งมั่นในการเดินหน้าดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ทั้งภายในและภายนอกองค์กรต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 10 ปี และในปีนี้ถือเป็นอีกก้าวย่างสำคัญจึงต้องเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

           

นายเพชร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย “น้ำมันพืชกุ๊ก” เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ ส่งเสริมในด้านต่างๆ ครอบคลุมการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างเครือข่ายสีเขียว ซึ่งบริษัทเป็นโรงงานผลิตน้ำมันพืชรายแรกในประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 (Green Industry 5 : Green Network) และความรับผิดชอบต่อสังคม CSR DIW Continuous ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม

เพชร หวั่งหลี            

ทั้งนี้โครงการซีเอสอาร์ มีทั้งกิจกรรมด้านชุมชน ประกอบด้วย โครงการคัดแยกขยะสัญจรชุมชน โดยออกสัญจรในแต่ละพื้นที่ชุมชนเพื่อสอนคัดแยกขยะ และรับซื้อขยะในแต่ละประเภท ร่วมกับร้านรับซื้อของเก่าตามแต่ละประเภทของการรับซื้อ โดยบริษัทได้ร่วมสนับสนุนเพิ่มมูลค่าการรับซื้อให้กับชุมชน

 

โดยเป็นโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559-2562 แต่ในปี 2563-2565 ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็น โครงการสนับสนุนและช่วยเหลือชุมชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอนาคตบริษัทมีแผนต่อยอดโครงการคัดแยกขยะสัญจรชุมชน ให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ และมีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

           

นอกจากนี้ยังมีโครงการบำบัดน้ำลำคลองชุมชนธนากร โดยบริษัทร่วมกันจัดกิจกรรมโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ และ EM บอล ในการปรับสภาพน้ำให้ใสสะอาดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการคัดแยกขยะของบริษัทธนากรฯ เพื่อนำมาปรับใช้กับโครงการเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นทอง โดยเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้มีมูลค่าเพิ่ม ด้วย “หนอนแมลงวันลาย” (แมลงที่ไม่นำโรคและไม่เป็นศัตรูพืช) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลด และจำกัดขยะอินทรีย์ (เศษอาหาร ผัก ผลไม้) ด้วยการนำมาใช้เลี้ยงหนอนแมลงวันลาย

กุ๊ก เดินหน้าองค์กร สู่ความยั่งยืน หนุนชุมชนแข็งแรง

รวมทั้งสามารถนำผลผลิตจากการเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อได้ อาทิ ปุ๋ยสำหรับการเกษตร, น้ำหมักจุลินทรีย์, ปลอกของหนอนแมลงวันลายหลังการถอดปลอกทิ้งเป็นแมลงวันลาย หรือตัวหนอนแมลงวันลาย สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์เนื่องจากมีโปรตีนสูง และแมลงวันลายสามารถผสมพันธุ์ได้ไข่หนอนแมลงวันลายกลับมาเป็นวงจรวัฏจักร และสามาถช่วยไล่แมลงวันบ้านได้

           

นายเพชร กล่าวอีกว่า บริษัทยังดำเนินโครงการปรับภูมิทัศน์ซอยธนากร ร่วมกับเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ และชุมชนใกล้เคียงบริษัทฯ ภายใต้ชื่อโครงการ “ชุมชนร่วมใจ ปลูกทองอุไร ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เมื่อปี 2562 โดยร่วมกันปลูกต้นทองอุไรตลอด 2 แนวข้างทางซอย ธนากร จำนวน 500 ต้น

 

รวมถึงโครงการคืนคลองสวยน้ำใสให้ชุมชนของเรา ดำเนินการขุดลอกคลองตาพุ่ม รอบชุมชนธนากร เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชุมชนแนวคลองธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์คูคลองในท้องถิ่น เพื่อสร้างจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2562 เช่นเดียวกัน

กุ๊ก เดินหน้าองค์กร สู่ความยั่งยืน หนุนชุมชนแข็งแรง

“หลังดำเนินโครงการด้าน CSR อย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 10 ปีไม่ว่าจะเป็นโครงการคัดแยกขยะสัญจรชุมชน รวมถึงโครงการบำบัดน้ำลำครองชุมชนธนากร ฯลฯ จนถึงปัจจุบันบริษัทยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้ชุมชนได้มีการพัฒนาและยกระดับด้านการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และในปีนี้จะยังคงเดินหน้าโครงการต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อสร้างจิตสำนึกและให้ชุมชนแข็งแรงต่อไป”

           

ปัจจุบันบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลืองสำหรับผู้บริโภค ภาคอุตสาหกรรม และส่งออกภายใต้แบรนด์ “กุ๊ก” รวมไปถึงเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เลซิทินจากถั่วเหลือง ภายใต้แบรนด์ “เลซิแมกซ์” นอกจากนี้ยังมีกรดน้ำมันถั่วเหลือดิบ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเป็นสารตั้งต้นในการผลิตไบโอดีเซลด้วย

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,816 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2565