เปิดประเทศธุรกิจโรงแรมฟื้น นํ้ามันพุ่งฉุดสายการบินอ่วม

25 ส.ค. 2565 | 13:08 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2565 | 20:24 น.
546

การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ทำให้ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เริ่มขยับ โดยธุรกิจโรงแรมทยอยฟื้นตัว แต่ด้วยราคาต้นทุนนํ้ามันที่พุ่งสูงขึ้นฉุดธุรกิจสายการบินอ่วม

การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีนี้ รวมถึงมาตร การผ่อนคลายจากภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นให้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ทำให้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของไทยใน ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เริ่มกลับมาขยายธุรกิจ และเริ่ม ทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (วันที่ 1-31 มกราคม 2565) ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย แล้วกว่า 3.1 ล้านคน ขยายตัว 5,285%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีทีผ่านมา สร้างรายได้กว่า 1.57 แสนล้านบาท ดีกว่าตลอดทั้งปี 2564 ที่ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 427,869 คนเท่านั้น

โรงแรมตีปีกรับธุรกิจฟื้นตัว

 

นี่เองจึงทำให้ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ล้วนมีผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขาดทุนลดลง และมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัด รวมถึงหลายแห่งเริ่มกลับมามีกำไรบ้างแล้ว ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

 

โดยเฉพาะแอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ “AWC” เป็นกลุ่มโรงแรมเดียวที่ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปีนี้พลิกกลับมากำไร 1,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนอยู่  792 ล้านบาท ทั้งยังได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท เอดับบลิวซี ฮอสปิทอลลิตี้ เดเวลอปเมนท์ จำกัด ที่ AWC ถือหุ้น 51% โดยมีแผนจะเพิ่มทุนในบริษัทร่วมทุนนี้เป็น 10.8 หมื่นล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่มีศักยภาพในแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของไทย

 

เปิดประเทศธุรกิจโรงแรมฟื้น นํ้ามันพุ่งฉุดสายการบินอ่วม

 

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในทุกเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะโรงแรมกลุ่มลักซ์ชูรี ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการเปิดประเทศ อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้บริการโรงแรมมากขึ้น ศูนย์การค้าก็มีลูกค้ากลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น อย่างเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ในไตรมาส 2/2565 มีลูกค้าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 220%

ขณะที่บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL  ช่วงครึ่งแรกปีนี้ขาดทุนลดลงอย่างมาก เหลือขาดทุนอยู่ 21 ล้านบาท จาก 1,082 ล้านบาทในปีก่อน และในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ยังพลิกกลับมาทำกำไรที่ 22 ล้านบาท เนื่องจากโรงแรมในไทยมีผลดำเนินงานฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการจัดประชุมสัมมนาที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มัลดีฟส์ เข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ยังคงเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ CENTELได้วาง แผนในการจ่ายคืนเงินต้นสำหรับเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย

 

เปิดประเทศธุรกิจโรงแรมฟื้น นํ้ามันพุ่งฉุดสายการบินอ่วม

 

เช่นเดียวกับไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT ที่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การขาดทุนลดฮวบเหลืออยู่ที่ 2,232 ล้านบาท  จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสูงถึง 11,173 ล้านบาท และพลิกมาทำกำไรแล้วในช่วงไตรมาส2 ปีนี้ ขณะที่ในส่วนธุรกิจโรงแรม “ไมเนอร์ โฮเทลส์” กลับมามีกำไรครั้งแรก ตั้งแต่เกิดโควิด-19 ในขณะที่ไมเนอร์ ฟู้ด และไมเนอร์ ไลฟ์สไตล์ยังคงสร้างผลกำไรให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่นับรวมผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS16

 

นายเดิร์ก อังเดร ลีน่า เดอ คุยเปอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘SHR’ บริษัทในเครือสิงห์เอสเตท เปิดเผยผลประกอบการครึ่งปีแรก มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,761 ล้านบาท เติบโตเกือบ 3 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในทุกพอร์ตที่บริษัทฯ ดำเนินงานทั้งในไทยและต่างประเทศ และคาดว่าพอร์ตโรงแรมในไทยจะสามารถสร้างรายได้ที่เติบโตขึ้นเกือบสองเท่าตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปี

 

เปิดประเทศธุรกิจโรงแรมฟื้น นํ้ามันพุ่งฉุดสายการบินอ่วม

 

นํ้ามันพุ่งฉุดสายการบินขาดทุน

 

สำหรับในส่วนของธุรกิจสายการบินส่วนใหญ่ผลการดำเนินการในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่ล้วนมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเติบโตของเส้นทางบินในประเทศ และการทยอยกลับมาเปิดทำการบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศได้บ้างแล้ว แต่จากราคานํ้ามันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสายการบินที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้สายการบินส่วนใหญ่ขาดทุนเพิ่มขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

โดยช่วงครึ่งแรกของปีนี้ไทยแอร์เอเชีย ขาดทุน 7,094 ล้านบาท  ตามมาด้วยการบินไทย ขาดทุน 6,467 ล้านบาท บางกอก แอร์เวยส์ ขาดทุน 1,867 ล้านบาท ส่วนนกแอร์ยังไม่ได้แจ้งผลการดำเนินงาน  แต่อย่างไรก็ตามสายการบินก็มองว่าในช่วงครึ่งหลัง ของปีนี้ สายการบินจะกลับมาทำ การบินเส้นทางต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ก็น่าจะทำให้ธุรกิจเริ่มฟื้น ตัวขึ้นและดีต่อเนื่องถึงปีหน้า