สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายขยายเวลาปิดรันเวย์ถึงวันที่5ส.ค.65

02 ส.ค. 2565 | 22:42 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2565 | 18:54 น.
1.6 k

สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายขยายเวลาปิดรันเวย์ถึงวันที่ 5 ส.ค.65 ระงับเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบิน สาเหตุจากล้อลงจอดด้านซ้ายของเครื่องบินนกแอร์ทรุดตัวขณะกำลังลากจูง เนื่องจากฝนตกหนัก

วันนี้(วันที่ 2 สิงหาคม2565)ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ประกาศขยายเวลาปิดทางวิ่งถึงเวลา 22.00 น. ของวันที่ 5 สิงหาคม 2565  

 

 

โดยเมื่อเวลา 21.36 น. ของวันนี้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ได้ออกประกาศผู้ทำการในอากาศ (NOTAM) ว่า ท่าอากาศยานได้ขยายระยะเวลาปิดทางวิ่ง 03/21 จากเดิมถึงวันที่ 3 เป็นเวลา 22.00 น. ของวันที่ 5 สิงหาคม

 

สาเหตุที่ทำให้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ต้องขยายระยะเวลาปิดไปจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม เนื่องจากล้อลงจอดด้านซ้ายของเครื่องบินนกแอร์เกิดทรุดตัวขณะที่กำลังลากจูง เนื่องจากฝนตกหนักทำให้ชั้นดินทรุดตัว ส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายอากาศยานเพิ่มขึ้น

สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายขยายเวลาปิดรันเวย์ถึงวันที่5ส.ค.65

 

 

 

ทั้งนี้ เที่ยวบินขาเข้าและขาออกจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงรายในวันที่ 4-5 สิงหาคม ทั้งหมดถูกยกเลิก 

 

ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบินสามารถติดต่อสายการบินเพื่อของรับการช่วยเหลือได้ที่ 

 

  • นกแอร์ โทร : 1318
  • ไทยสมายล์ โทร : 02-118-8888
  • ไทยไลอ้อนแอร์ โทร : 02-529-9999
  • ไทยเวียตเจ็ทโทร: 02-089-1909
  • ไทยแอร์เอเชีย: คลิ๊กที่นี่ 

 

นอกจากนี้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ยังได้อัพเดทขั้นตอนการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง Disabled Aircraft Removal ล่าสุด ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2565 โดยระบุว่า

                                                           

การเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal) ของสายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD108 อากาศยานแบบ B737- 800 หมายเลขทะเบียน HS-DBR ประสบเหตุอากาศยานไถลออกนอกทางวิ่ง (Runway Excursion) ระหว่างทำการร่อนลงทางวิ่ง 03 ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 เวลา 21.06 น.

 

หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (กสอ.) GO TEAM และตัวแทนจากสายการบินนกแอร์ (Engineering) ได้เดินทางมาถึง ทชร. ในช่วงบ่าย (ลงเครื่องบินที่เชียงใหม่ เดินทางโดยรถยนต์มายัง ทชร.) เมื่อเดินทางมาถึงเจ้าหน้าที่ของ กสอ. ได้ลงพื้นที่

 

จุดเกิดเหตุทันทีเพื่อดำเนินการรวบรวมเอกสาร หลักฐาน ภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องบริเวณจุดเกิดเหตุเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไป หลังจากนั้นได้มีการประชุมวางแผนการเคลื่อนย้ายอากาศยานร่วมกับ ทชร. โดยได้มีการวางแผนสำรวจพื้นที่และประเมินระยะเวลาในการดำเนินการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง พร้อมประสานหน่วยงานต่างๆ

 

เพื่อขอรับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ทีมเจ้าหน้าที่ และได้กำหนดเวลาในการเคลื่อนย้าย (หลังจากได้รับอนุญาตจาก กสอ.) เป็นระยะเวลาประมาณ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 - 3 สิงหาคม 2565  ทชร. จึงออกประกาศผู้ทำการในอากาศ (Notam) แจ้งปิดทางวิ่งตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ถึงเวลา 22.00 น. ของวันที่ 3 สิงหาคม 2565 และแจ้งให้สายการบิน

ที่มีเที่ยวบินทำการบินเข้า - ออก ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรเวลาการบินรวมถึงเที่ยวบิน เพื่อลำเลียงผู้โดยสารตกค้างไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) และนำผู้โดยสารที่ลงเครื่องบิน ณ ทชม. กลับมายังจังหวัดเชียงราย

 

ในเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันอาทิตย์ ที่ 31 กรกฎาคม 2565 เจ้าหน้าที่ กสอ. ได้อนุญาตให้สายการบินนำกระเป๋าและสัมภาระของผู้โดยสารที่ตกค้างอยู่ภายในอากาศยาน (ภายใต้การกำกับดูแลของ กสอ.) ออกมาเพื่อนำส่งให้กับผู้โดยสารบริเวณพื้นที่ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศ และเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่ ทชร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างที่กำลังดำเนินการก่อสร้างภายในท่าอากาศยาน ได้เข้าปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นถนนชั่วคราวบริเวณจุดเกิดเหตุเพื่อเตรียมรอรับ Aircraft Recovery Team ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ที่จะเดินทางมาถึง ทชร. ในวันจันทร์ ที่ 1 สิงหาคม 2565  

 

 

วันจันทร์ ที่ 1 สิงหาคม 2565 เวลา 12.00 น. เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกู้ภัย ท่าอากาศยานพิษณุโลก สังกัดกรมท่าอากาศยาน ได้เดินทางมาถึงพร้อมกับอุปกรณ์เสื่อกู้อากาศยาน ซึ่งนำทีมโดย คุณวีระวัฒน์ ทะคง ผู้อำนวยการท่าอากาศยานพิษณุโลก , ทีมเจ้าหน้าที่สนับสนุนการเคลื่อนย้าย (Recovery Team) ของ บกท. พร้อมอุปกรณ์เบาะลมยกอากาศยาน , แผ่นปูรองพื้นใช้สำหรับรองรับการลากจูงอากาศยานขึ้นจากจุดเกิดเหตุ พร้อมเจ้าหน้าที่จากกองทัพอากาศ

 

โดยกองบิน 41 ซึ่งท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) เป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนการขนย้ายอุปกรณ์ , กำลังทหาร จำนวน 60 นาย จากมณฑลทหารบกที่ 37 เชียงราย , ไฟส่องสว่าง Mobile Lighting จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย, รถเทรลเลอร์ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย , รถนำขบวนอุปกรณ์จากท่าอากาศยานพิษณุโลก มาจังหวัดเชียงราย และจาก ทชม. มาจังหวัดเชียงราย โดยกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 , รถสุขาเคลื่อนที่ จากเทศบาลนครเชียงราย และ เต็นท์ จำนวน 4 หลัง จากหมู่บ้านปางลาวสำหรับใช้เป็นสำนักงานสนาม

 

การเคลื่อนย้ายอากาศยาน ในวันที่ 1 สิงหาคม 2565

 

  • เวลา 08.00 น. ทชร. มีการประชุมแผนการเคลื่อนย้ายร่วมกับ สายการบินนกแอร์ , กสอ. , เจ้าหน้าที่สนับสนุนการเคลื่อนย้าย (Recovery Team) ของ บกท. , มลฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย และได้เริ่มดำเนินการจัดเตรียมอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายฯ พร้อมปรับแต่งพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสอ. โดยได้กำหนด (Assign) หลุมจอดหมายเลข 7 เป็นพื้นที่จอดอากาศยานที่ดำเนินการเคลื่อนย้าย ซึ่ง กสอ.ยังคงพิทักษ์อากาศยาน แต่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้าย

 

  • เวลา 16.00 น. ทีมเจ้าหน้าที่ ปตท. ที่เดินทางมาจากสนามบินอู่ตะเภา เข้าดำเนินการถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ที่ยังคงค้างอยู่ในอากาศยานจำนวนหนึ่งตามขั้นตอนในการเคลื่อนย้ายฯ เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินการ

 

  • เวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่ (Recovery Team) ของ บกท. เริ่มใช้เบาะลมยกอากาศยานขึ้นเพื่อตรวจสอบ ความเสียหายและวางแผนในการเคลื่อนย้ายอากาศยาน , ทีมขุดทำหน้าที่ขุดดินบริเวณล้ออากาศยานที่จมลงในดิน ตรวจสอบพบว่า “หัก” ซึ่งทีมขุดดินประกอบด้วย รถขุดดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนะวงศ์กรุ๊ปและเจ้าหน้าที่ขุดซึ่งทำงานร่วมกันระหว่างกำลังพลทหารจากมณฑลทหารบกที่ 37 เชียงราย และพนักงาน ทชร.

 

  • เวลา 19.00 น. สามารถยกส่วนด้านหน้าของอากาศยานขึ้นมาได้ และได้ดำเนินการบดอัดหินคลุกบริเวณพื้นที่ใต้ลำตัวเครื่องบิน เพื่อเตรียมทำเส้นทางการเคลื่อนย้ายอากาศยานออกจากพื้นที่

 

  • เวลา 22.00 น. เกิดฝนตกหนักบริเวณท่าอากาศยาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน จึงหยุดการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากตรวจสอบพบล้อ Nose Gear (ล้อหน้าของเครื่องบินที่ใช้ในการต่อ Tow bar เพื่อเชื่อมกับรถดัน) “หัก” จึงต้องมีการวางแผนในการใช้รถเทรลเลอร์เข้ามารองส่วน Nose Gear พร้อมกับ Mock Up ด้วยรถเทรลเลอร์ ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และจะดำเนินการเคลื่อนย้ายอากาศยานในเวลาประมาณ 01.00 น.ของวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 ภายใต้การกำกับดูแลของ กสอ. เนื่องจากอากาศยานยังอยู่ในความพิทักษ์ ซึ่งประเมินว่าจะสามารถลากจูงอากาศยานขึ้นจากพื้นที่ได้ในช่วงเช้า ถึง เที่ยง

                       

หากสามารถลากจูงอากาศยานออกจากพื้นที่เกิดเหตุได้ตามแผนที่กำหนด คาดว่า ทชร.จะสามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติคือ วันพฤหัสบดี ที่ 4 สิงหาคม 2565 เวลา 06.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) หากไม่มีปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น สภาพอากาศเข้ามาแทรกแซง (หมายเหตุ : เวลาให้บริการของ ทชร. คือ เวลา 06.00 น. - 22.00 น. และได้ประกาศ NOTAM แจ้งปิดทางวิ่งถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 22.00 น.)                                                                    

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเปิดใช้งานทางวิ่ง จะต้องดำเนินการตรวจสอบความพร้อมของทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดและอุปกรณ์สิ่งอำนวยสะดวกต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งาน มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสนามบิน และตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ก่อนจึงจะสามารถเปิดใช้งานได้

 

การเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง Disabled Aircraft Removal เป็นการดำเนินการที่ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสิ่งสำคัญในการวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแผนการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง คือ ความรวดเร็ว เวลา ความถูกต้อง การสั่งการ การติดต่อสื่อสาร และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ”

 

นอกเหนือจากภารกิจการเคลื่อนย้ายอากาศยาน ทชร. ได้ดำเนินการดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ จากกรณีเหตุการณ์อากาศยานลื่นไถลออกนอกทางวิ่ง ดังนี้  จัดสนับสนุนรถรับ - ส่งผู้โดยสารที่ตกค้างที่ไม่สามารถเดินทางโดยรถที่สายการบินจัดหาไว้ให้ได้ทันและผู้โดยสารที่มีความประสงค์เดินทางไปยัง ทชม. เพื่อเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานปลายทาง ร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายและมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย อีกทั้งจัดรถแท๊กซี่มิเตอร์ และแท๊กซี่ลีมูซีนให้บริการแก่ผู้โดยสารที่เดินทางมาจาก ทชม. ตลอด 24 ชั่วโมง และขอความร่วมมือร้านค้าให้บริการสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจาก ทชม. โดยให้บริการถึงเวลา 22.00 น.