WTO เตรียมหารือแก้ "วิกฤตอาหารโลก" ความมั่นคงด้านอาหาร

29 พ.ค. 2565 | 16:22 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 00:12 น.

สถานการณ์วิกฤตอาหารโลก ราคาอาหารแพง ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง WTOเตรียมดันขึ้นวาระการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) หรือ MC12 หาทางแก้วิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร 12-15 มิ.ย. นี้

นายเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการWTO เปิดเผยถึง วิกฤตอาหารโลกว่า ผลประชุมระดับรัฐมนตรี WTO จะต้องสามารถดำเนินการในทางปฎิบัติได้จริง เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้กำลังเผชิญทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ การแพร่ระบาดโควิด-19 และ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำไปสู่ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงการขาดแคลนอาหารที่เป็นปัจจัยผลักให้ประชากรโลกเข้าสู่ภาวะความยากจน

 

“เครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือบทบาททางการค้าต้องเข้ามาทำให้ช่องว่างการเข้าถึงอาหารนี้แคบลง เพราะพบว่ามีการนำเงื่อนไขทางการค้ามาเป็นตัวกีดกันการเข้าถึงอาหาร ทั้งการจำกัดการส่งออกอาหาร เมื่อราคาอาหารภายในประเทศมีราคาแพงซึ่งต้องแก้ไขให้มีการใช้มาตรการต่างๆอย่างโปร่งใส รวมถึงการซื้ออาหารเพื่อส่งมอบให้โครงการอาหารโลก (WFP) ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม”

สำหรับผลการประชุม MC12 ควรเป็นข้อตกลงที่สามารถใช้ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านการปฎิรูปการค้าสินค้าเกษตร ที่ต้องการลดการอุดหนุนการค้า ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดตลาดเพื่อการค้าอาหารและการผลิตอาหาร ซึ่งสมาชิกต่างเรียกร้องให้สร้างระบบการเกษตรที่ยืดหยุ่น

นอกจากนี้ มีข้อเสนอที่ต้องการให้ WTO แทรกแซงผ่านการประชุม MC12 ว่าด้วยเรื่องแก้ไขวิกฤติความมั่นคงอาหารทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง โดยสามาชิกหลายคนมองว่าผลกระทบในด้านลบจากวิกฤติยูเครนมีผลความมั่นคงด้านอาหารในระดับภูมิภาคและระดับโลกและช่วยให้ผู้เล่นในตลาดสามารถรับมือกับวิกฤติในอนาคตได้

 

ส่วนข้อเสนอเรื่องการสร้างสต็อกอาหารร่วมเพื่อความมั่นคง หรือ Public stockholding for food security purposes (PSH) ซึ่งต้องเป็นระบบที่โปร่งใสและคล่องตัวนั้น เป็นเรื่องที่ต้องไปหารือในที่ประชุมต่อไป