ครม.เว้นภาษี-เพิ่มโควตานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 เดือน ลดต้นทุนเกษตรกร

03 พ.ค. 2565 | 15:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2565 | 22:06 น.

ครม. เห็นชอบผ่อนปรนนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภายใต้ WTO ในโควตา อนุมัติให้ อคส. และเพิ่มโควตาผู้นำเข้าทั่วไปเป็นผู้นำเข้าได้ไม่เกิน 6 แสนตัน เว้นภาษี 0% เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค. 2565

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ WTO ในโควตา โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.)

 

รวมทั้งผู้นำเข้าทั่วไปเป็นผู้นำเข้าได้ ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. 65 ในอัตราภาษี 0% ปริมาณไม่เกิน 6 แสนตัน หรือ 50% ของความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน 

 

จากเดิมที่ให้ อคส. เป็นผู้นำเข้าเพียงผู้เดียว ในอัตราภาษี 20% ปริมาณไม่เกิน 54,700 ตัน ภายหลังครม.เห็นชอบแล้วให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดออกประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นโยบายและมาตรการตามข้อเสนอนี้ มีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 ผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าข้าวสาลี โดยยกเว้นการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เป็นการชั่วคราว ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. 65 นี้

หากมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ นับตั้งแต่เดือน เม.ย 65 รวมทุกช่องทางในปริมาณ 1.2 ล้านตันให้สิ้นสุดการผ่อนปรนแล้วกลับไปใช้มาตรการเดิม 

 

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้รวบรวมและผู้ผลิตอาหารสัตว์ มีข้อยุติร่วมกันในการเพิ่มปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านตัน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์และต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ 

 

ดังนั้นจึงเห็นควรผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าเป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ผ่อนคลายสถานการณ์ต้นทุนในภาคปศุสัตว์และช่วยให้ประชาชนไม่รับภาระราคาสินค้าปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ยังกำชับให้ติดตามเฝ้าระวังการดำเนินการตามมาตรการภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 

 

พร้อมให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำความตกลงขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการในครั้งนี้ ตรึงราคาสินค้าปศุสัตว์ที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนด้วย