เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เงินโฆษณาสะพัด 200 ล้าน จับตาคนรุ่นใหม่ตัวแปรสำคัญ

26 เม.ย. 2565 | 12:28 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2565 | 19:53 น.

คาดเม็ดเงินโฆษณาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เฉียด 200 ล้านบาท สื่อออนไลน์ OOH ทีวี รับอานิสงส์ ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ตัวแปรผลการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกในรอบ 9 ปี ทำให้ถูกจับตาเป็นพิเศษ หลังผู้สมัครเดินหน้าลงพื้นที่หาเสียง รวมถึงการใช้ยุทธวิธีการหาเสียงที่หลากหลาย ตามภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ด้วยเครื่องมือต่างๆ ทั้งป้ายโฆษณา นิวมีเดีย อย่างสื่อออนไลน์ สื่อโซเชียล ทั้ง TikTok  IG  เริ่มถูกนำมาใช้เพื่อเข้าถึงคนในวงกว้างและตอบรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น และจะยิ่งเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เมื่อการเลือกตั้งก็จะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. นี้ใกล้เข้ามา    

 

นายภวัต เรืองเดชวรชัย  ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI Group เปิดเผยว่า รูปแบบการหาเสียง การสื่อสารประชาสัมพันธ์นโยบายของผู้สมัครในครั้งนี้ รูปแบบต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งก่อนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ด้วย 3 ปัจจัยหลัก

 

1. The Changing Media Landscape ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา สื่อทรงพลังอย่างสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ถูกแทนที่สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียซึ่งกลายเป็นสื่อกระแสหลักของคนเมือง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และเยาวชน นอกจากนั้นสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียในปัจจุบันมีความหลากหลายและแตกกระจายไปตามจุดประสงค์ของการใช้งาน วัฒนธรรมย่อยของกลุ่มผู้ใช้งาน (Sub-culture)

MI

2. From Linear to Omni Customer Journey  เส้นทางของผู้บริโภคที่เข้ามาสัมผัสกับแบรนด์ เกิดประสบการณ์ในเรื่องต่างๆกับแบรนด์ และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีต่อแบรนด์ เช่น ยอดขาย ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน คือไม่ได้มีลำดับหรือรูปแบบที่ตายตัวเหมือนแต่ก่อน ซึ่งสอดคล้องกับการสื่อสารระหว่างตัวผู้สมัครและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

3. New Political Era & New Eligible Voters การเมืองยุคใหม่ที่ฟอร์มตัวจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ที่สูงเป็นประวัติกาล ทำให้เกิดการตื่นตัวต่อการติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว นโยบายและองค์ประกอบต่างๆ ในหลายๆมิติ ของผู้สมัครแต่ละคน

 

รูปแบบและวิธีการหาเสียงจึงต้องสอดคล้องกับยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิออกเสียงเป็นครั้งแรกกว่า 700,000 คน หรือคิดเป็น 16% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 4.5 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าจับตามองและมีผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในครั้งนี้

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.2565

ขณะที่ การใช้เครื่องมือ Social Listening ว่าสังคมออนไลน์คิดเห็นอย่างไรกับนโยบายและการหาเสียงของผู้สมัคร พร้อมวิเคราะห์ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละ Generation เค้าเสพสื่ออะไรเป็นหลักและอยู่บน Social Media ไหนกันมากที่สุด มีเทคนิคอะไรที่น่าสนใจในการเข้าถึงและมัดใจฐานเสียงหลักแต่ละกลุ่มได้

 

จากข้อมูล Social Listening ของ WISESIGHT ในช่วงกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ชัชชาติ สุชัชวีร์ อัศวิน & วิโรจน์ ถูกพูดถึงและมีส่วนร่วมจากชาวโซเชียลมากที่สุด (ตามลำดับ) บนโลกโซเชียล 

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 2565

โดยนโยบายของผู้สมัครที่ได้รับการพูดถึง (engage) มากที่สุดจากโลกโซเชียล คือ 1. ความโปร่งใส 2. บริการสาธารณสุข 3. บำบัดน้ำเสีย 4. บริหารงาน 5. น้ำท่วม

 

ทั้งนี้ ข้อมูลยังสะท้อนเป็นคะแนนความคิดเห็นของชาวโซเชียลในเชิงบวก โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกคือ ชัชชาติ วิโรจน์ และรสนา ตามลำดับ

 

ในแง่นโยบายของผู้สมัครแต่ละคน ภาพรวมนโยบายของ ชัชชาติและ วิโรจน์ ได้รับการพูดถึง (engage) จากโซเชียลมากที่สุด 2 อันดับแรก

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 2565

ส่วนนโยบายในแง่การแก้ไขและพัฒนากรุงเทพ “เรื่องน้ำท่วม” ดูได้รับความสนใจจากโซเชียลมากที่สุด ตามมาด้วยการพัฒนาโดยองค์รวม และการแก้ปัญหารถติด ตามลำดับ

 

ผู้มีที่สิทธิเลือกตั้งแต่ละ Generation (Gen Z, Gen Y, Gen X, Baby Boomer)  เสพคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองบนสื่ออะไรและอยู่บนโซเชียลมีเดียไหนกันมากที่สุด นั่นก็คือ Facebook, Twitter, และสำนักข่าวโทรทัศน์เป็นหลัก แต่สำหรับ Instagram และ TikTok แม้จะเป็นที่นิยมมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ก็เป็นเพียงแพลตฟอร์มที่ช่วยขยายการเข้าถึงและการรับรู้  แต่ไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มหลักที่ช่วยสร้าง Engagement

 

หากเปรียบเทียบผู้สมัครเหมือนแบรนด์หรือสินค้า “Customer Journey” หรือ เส้นทางของผู้บริโภคที่เข้ามาสัมผัสกับแบรนด์ เกิดประสบการณ์ในเรื่องต่างๆกับแบรนด์ และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีต่อแบรนด์ นั่นก็คือ รับรู้/ เกี่ยวข้อง/ สนใจ & ค้นหา/ ตัดสินใจซื้อ/ รัก/ บอกต่อ (เป็นสาวกของแบรนด์นั้นๆ) เส้นทางของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในช่วงเวลาก่อนการตัดสินใจเข้าคูหาเลือกผู้สมัครโดยรวมก็มีความคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในรายละเอียด เรียกว่า “VOTER INFO RECEPTIVE JOURNEY”

 

ผู้ลงสมัครเลือกตั้งทุกคนมีโอกาสเท่าๆกัน ตามกฎและระยะเวลาที่ กกต. เปิดให้หาเสียง ดังนั้นจึงอยู่ที่ตัวผู้สมัครว่าจะเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตัวเองแต่ละกลุ่มย่อยอย่างลึกซึ้งแค่ไหน เช่น เสพสื่อจากช่องทางไหน ชอบเนื้อหาประเภทไหน นโยบายไหนที่โดนใจ ก็จะสามารถเลือกช่องทางสื่อ และสร้างสรรค์เนื้อหาได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา และถูกใจผู้มีสิทธิลงคะแนนมากที่สุด

 

ผู้สมัครส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนแปลง เทคนิคในการโน้มน้าวและเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนและอาจเป็นกระบอกเสียงให้ผู้สมัครรายนั้นๆ โดยใช้ Forced Contents (หรือเนื้อหาประชาสัมพันธ์ผู้สมัครในรูปแบบโฆษณาอย่างตรงไปตรงมา) อาจไม่ส่งผลบวกโดยตรงต่อการได้มาซึ่งคะแนนเสียง

MI

หากดูภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในปีนี้ ตั้งแต่ต้น Summer ที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยเรื่องโควิดที่มาตรการของภาครัฐและความกังวลของประชาชนส่วนใหญ่เริ่มผ่อนคลายขึ้น กลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติมากขึ้น และเม็ดเงินโฆษณาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. น่าจะทำให้ยิ่งชัดเจนได้ว่า

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ได้ไม่ยาก หรือประมาณ 84,000 ล้านบาท เฉพาะในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาพรวมความคึกคักของเม็ดเงินสื่อโฆษณาซึ่งสำรวจโดย MI Group เพิ่มขึ้นกว่า 15-20% เมื่อเปรียบเทียบเมษายนปีที่แล้ว

 

โดยที่เม็ดเงินโฆษณาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. น่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ส่งผลบวกโดยตรงต่อสื่อออนไลน์ สื่อนอกบ้าน (OOH: Digital Billboard, Billboard) และสื่อโทรทัศน์ ตามลำดับ  

 

ส่วนเม็ดเงินประชาสัมพันธ์ของผู้สมัครในครั้งนี้น่าจะเน้นไปอยู่ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การผลิตคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์, การทำพีอาร์, ขบวนTroop และรถแห่, ป้ายหาเสียง (Cut-out) และการจัดปราศรัย (Hyde Park) เป็นต้น

 

ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ปี 2556 (9 ปีก่อน)  สื่อที่ได้รับความนิยมได้แก่ สื่อทีวี  สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ  OOH