อลังการ “มหกรรมพืชสวนโลก” เนเธอร์แลนด์

25 เม.ย. 2565 | 15:21 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2565 | 22:27 น.
631

ช่วงนี้หลายคนเริ่มทยอยเดินทางเที่ยวต่างประเทศกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะยุโรป เพราะไม่ได้มีเงื่อนไขในการเดินทางเข้าประเทศมากมาย และหากใครมีโอกาสไปเยือน “เนเธอร์แลนด์” พลาดไม่ได้เลย กับการเที่ยวชม “งานมหกรรมพืชสวนโลก” หรือ “EXPO 2022 Floriade Almere”

“Floriade” เป็นชื่องานมหกรรมพืชสวนโลกของเนเธอร์แลนด์ ที่จัดขึ้นทุกๆ 10 ปี เป็นงานแสดงพืชสวนยิ่งใหญ่ระดับโลก ได้รับการรับรองจากสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) และสำนักงานจัดงานมหกรรมนานาชาติ (BIE) โดยจะหมุนเวียนไปตามเมืองต่างๆ ซึ่งงานจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960)

 

งานมหกรรมพืชสวนโลก 2022 หรือ EXPO 2022 Floriade Almere ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ซึ่งเนเธอร์แลนด์ ได้เนรมิตเมืองอัลเมียร์ จังหวัดเฟลโวลันด์ จัดงานนี้ขึ้นได้อย่างน่าประทับใจ

อลังการ “มหกรรมพืชสวนโลก” เนเธอร์แลนด์

 

โอโห! พาวิเลียนจาก 26 ประเทศ อลังการมากเลย เมื่อมาอยู่รวมกัน ณ เมืองแห่งนี้ ซึ่งจัดว่าเป็นเกาะเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก บนพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 4 เมตร มีเขื่อนกั้นน้ำไว้เป็นแนวป้องกัน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) แม้จะเป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่ถึง 40 ปี แต่ที่นี้กลับมีสถาปัตยกรรม เส้นทางจักรยานหลายร้อยกิโลเมตร เส้นทางชายหาดที่ทอดยาว และทิวทัศน์ธรรมชาติโอบล้อมกันอย่างกลมกลืน ท่ามกลางบรรยากาศหนาวเย็น 15-16 องศาเซลเซียส

 

อลังการ “มหกรรมพืชสวนโลก” เนเธอร์แลนด์

 

งานนี้ประเทศต่างๆงัดจุดเด่นของตัวเอง มาคลีเอดสร้างพาวิเลียน สะท้อนสีสันในแบบโดนๆปังๆเพียบ จุดแรกที่เราต้องไปส่อง นี่เลย “ไทยพาวิลเลี่ยน” อยู่ไม่ไกลจากประตูทางเข้าเดินประมาณ 500 เมตร ก็จะเห็น “ศาลาไทย” ตั้งตะหง่านอยู่ด้านซ้ายมือ ทางเดินสองทาง มีทั้ง กล้วยไม้ ช้างไทย และพญานาค พืชผักที่นำมาตกแต่งสวยงาม ซึ่งการจัดตกแต่งสวนไทย นำเสนอ 3 แนวคิดหลัก

 

ได้แก่ 1. Resilience landscape 2. Gastronomy Thailand 3. Energy sustainability  นำเส้นสายของลายคลื่นในงานจิตรกรรมฝาผนังของไทย มาร้อยเรียงเข้ากับลายเหลี่ยมจากงานประณีตศิลป์ของไทย ผ่านการจัดวางองค์ประกอบทางภูมิสถาปัตยกรรม อย่างกระถางลายครามประดับไม้มงคล กระทงโลหะ พญานาคไม้ไผ่สาน และร้านกล้วยไม้ เสนอถึงเรื่องราวชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ และอัตลักษณ์ของไทย

 

อลังการ “มหกรรมพืชสวนโลก” เนเธอร์แลนด์

 

ทั้งมีให้ชิมพวกขนมไทย และผลไม้ที่มีชื่อเสียง อาทิ ทุเรียน มังคุด ลำไย ขนุน สละ มะขามหวาน ชมพู่ทับทิมจันทร์ วันละรอบ และมีการสาธิตการทำ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ด้วยน๊ะ กำลังฮือฮาเลย หลังน้อง “มิลลิ” กินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์ในงานเทศกาลดนตรีและศิลปะ (Coachella) ทั้งยังมีโซนสินค้าเกษตรนวัตกรรม โซนการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) มาเปิดบูธ

 

อลังการ “มหกรรมพืชสวนโลก” เนเธอร์แลนด์

 

ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในไทยว่าเดือนไหนควรไปเที่ยวที่ไหน โดยจัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียนทุกเดือน ตลอด 6 เดือน ระหว่างการเดินจะมีเสียงดนตรีไทยขับกล่อมบรรยากาศเหมือนอยู่ภาคเหนือประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว

 

พาวิลเลี่ยน ประเทศจีน

หลังจากชมพาวิลเลี่ยนไทย เต็มอิ่มแล้ว ยังมีพาวิลเลี่ยนอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกเพียบไม่ว่าจะเป็น “พาวิลเลียนประเทศจีน” เตะตามากกับประตูไม้ไผ่และค้นพบป่าไผ่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยพื้นที่ 4,200 ตารางเมตร สวนนี้เป็นสวนนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในงาน Floriade ครั้งนี้

 

อลังการ “มหกรรมพืชสวนโลก” เนเธอร์แลนด์

 

นำเสนอภายใต้แนวคิด “A growing Chinese bamboo garden” นำเสนอการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของมนุษย์และธรรมชาติ ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความเจริญรุ่งเรือง มีอกไม้ อาทิ ดอกโบตั๋น ดอกชบา และดอกเบญจมาศ ที่บรรยายถึงเรื่องราวตามเทพนิยายจีน

 

 

พาวิลเลี่ยนประเทศญี่ปุ่น

 

เดินถัดมา “พาวิลเลี่ยนประเทศญี่ปุ่น” นำเสนอความ เรียบง่าย การจัดสวนแบบ  “Satoyama Farm Garden”  ได้รับแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตทางนิเวศวิทยาแบบดั้งเดิม ซึ่งมีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับสวน พื้นที่เพาะปลูก และป่าไม้ นำเสนอใน Theme “Satoyama” (ซาโตยามะ) หมายถึง พื้นที่ที่ประกอบด้วยพื้นที่การเกษตร บ่อน้ำชลประทาน ป่าไม้ และทุ่งหญ้ารอบเมือง

 

อลังการ “มหกรรมพืชสวนโลก” เนเธอร์แลนด์

 

รวมถึงเมืองต่างๆ ซึ่งภูมิทัศน์ของ Satoyama เป็นการหล่อหลอมระหว่างวิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติมาเป็นเวลายาวนาน จนเกิดความกลมกลืนพฤกษชาติเพลิดเพลินกับดอกไม้ที่สวยงามในสวนญี่ปุ่น และพบกับนิทรรศการ อิเคบานะ ต้นบอนไซ และการจัดดอกไม้

 

พาวิลเลี่ยน เยอรมนี

 

 “พาวิลเลี่ยน เยอรมนี” รายล้อมไปด้วยไม้ประดับ พืชสวน ต้นไม้ และดอกไม้ป่า เป็นการสร้างระบบนิเวศที่มีชีวิต ซึ่งจะทำการหมุนเวียนปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชที่ใช้ประดับตกแต่งตลอดการจัดงาน นิทรรศการที่เคลื่อนไหว หรือ โต้ตอบกับคนชมงานได้ อาทิ นักดนตรีมาแสดงสด  เล่นกับผู้คนที่เข้ามารับประทานอาหาร เคล้าเบียร์ของเยอรมัน

 

ลานพาวิลเลี่ยน เยอรมนี

 

ส่วน “พาวิลเลี่ยนประเทศฝรั่งเศส”  เป็นลักษณะการปลูกพืชสวนแบบประหยัดทรัพยากรสมัยใหม่ คุณจะได้เห็นความเป็นไปได้ของเมืองสีเขียวแห่งอนาคตในรูปแบบที่สนุกสนาน ใจกลางสวนประกอบด้วยพื้นที่เปิดโล่งที่ล้อมรอบด้วยศาลาไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองสมัยใหม่ ศาลามีสวนบนดาดฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม ซุ้มสีเขียว สนามเด็กเล่นในน้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย

 

พาวิลเลี่ยนการ์ตา

 

นอกจากนี้ “พาวิลเลี่ยนการ์ตา” โดดเด่นมากกับโดมที่มองเห็นภายนอกนั้นความจริง ก็คือ “รังทะเลทราย” และ “หอคอยนกพิราบ” หากย้อนไปในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 นกพิราบถูกนำมาเลี้ยงไม่ใช่เพื่อกินเนื้อ แต่เป็นมูล ซึ่งชาวบ้านเก็บรวบรวมและใช้ในการเพาะเมล็ดแตงโมและแตงกวา มูลของนกพิราบถูกคิดว่าเป็นปุ๋ยที่ดีที่สุดสำหรับพืชผลเหล่านี้และหอคอยนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการดึงดูดนกพิราบเข้ามาหาพวกมัน เพื่อที่พวกมันจะมาทำรังในหอคอยและสามารถเก็บเกี่ยวมูลได้นั่นเอง

 

กระเช้าข้ามทะเลสาบ

ยังมีอีกหลายพาวิลเลี่ยน ที่รอเราอยู่ ซึ่งเปิดให้เที่ยวชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 9 ตุลาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00 น.- 19.00 น. หรือเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandfloriade2022.com  โดยค่าเข้าชมผู้ใหญ่ ค่าตั๋ว 35 ยูโร (อัตราแลกเปลี่ยน 36.57 บาท) ราว  1,279.95 บาท ส่วนเด็ก อายุ  4 ถึง12 ปี  17.50 ยูโร ราว 639.975 บาท

 

HOW TO GO

 

การเดินทางเที่ยวเนเธอร์แลนด์ในครั้งนี้ เราเดินทางโดยสายการบินเคแอลเอ็ม โรยัลดัตช์ แอร์ไลน์  จะใช้ระยะเวลาการเดินทาง 11.55 ชั่วโมง  การเดินทางเข้าประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันไม่ต้องตรวจทั้ง ATK และ RT-PCR ถ้าผู้เดินทางฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดส และมีเข็มกระตุ้นก่อนการเดินทาง ไม่เกิน 270 วัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวเฉพาะผู้ที่เดินทางสายการบินตรงมายังประเทศเนเธอร์แลนด์ เท่านั้น แค่  (แนบ) เอกสารวัคซีนพาสปอร์ต

 

อลังการ “มหกรรมพืชสวนโลก” เนเธอร์แลนด์

 

สำหรับการเดินทางขากลับก่อนเข้าไทย จะต้องดำเนินตามมาตรการเดินทางเข้าไทยแบบ Test & Go โดยลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass  แนบเอกสารที่พักโรงแรมในไทย ซึ่งมีให้เลือกมากมาย พัก 1 คืนรอผลตรวจ RT-PCR หากผลตรวจเป็นลบเราก็กลับมาใช้ชีวิตปกติหลังเที่ยวกันชุ่มปอด

 

 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,777 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2565