ส่อง “พืชสวนโลก” ไฮไลท์ ‘ไทยพาวิลเลียน’ ไม่เป็นสองรองใคร

24 เม.ย. 2565 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2565 | 19:20 น.

ปลัดเกษตรฯ-อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ควงนำเที่ยวชมความอลังการ ‘ไทยพาวิลเลียน’ โดนเด่น ในงาน EXPO 2022 Floriade Almere ไม่เป็นสองรองใคร

จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.)  ( 12 ต.ค.63) ได้เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมมหกรรมพืชสวนโลก 2022 (EXPO 2022 Floriade Almere) ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในวงเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการรวมทั้งสิ้น 187.64 ล้านบาท ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นแม่งานหลักในการจัดงานในครั้งนี้

 

วันที่ 12 -17 เมษายนที่ผ่านมา ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยเข้าร่วมงาน “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รับเชิญร่วมคณะเพื่อรายงานข่าวในครั้งนี้ด้วย

 

ส่อง “พืชสวนโลก” ไฮไลท์ ‘ไทยพาวิลเลียน’ ไม่เป็นสองรองใคร

 

"อัลเมียร์” สถานที่จัดงาน

เมืองอัลเมียร์ (Almere) จังหวัด เฟลโวลันด์ (Flevoland) ประเทศเนเธอร์แลนด์ สถานที่จัดงานในครั้งนี้เป็นเกาะเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 4 เมตร โดยมีเขื่อนกั้นน้ำไว้เป็นแนวป้องกัน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) แม้จะเป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่ถึง 40 ปี แต่ที่นี่กลับมีสถาปัตยกรรมที่น่าชม มีเส้นทางจักรยานหลายร้อยกิโลเมตร เส้นทางชายหาดที่ทอดยาว และทิวทัศน์ธรรมชาติโอบล้อมกันอย่างกลมกลืน

 

 

ส่วนงานมหกรรมพืชสวนโลก 2022 หรือ The International Horticultural Expo (EXPO 2022 Floriade Almere) ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 7 และประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วม โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 เมษายน- 9 ตุลาคม 2565

 

 

ประเทศไทย ได้เปิดตัว “Thailand Pavilion” อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 เมษายน 2565 ท่ามกลางบรรยากาศหนาวเย็น อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 14-15 องศาเซลเซียส มีแสงแดดอ่อน ๆ ท้องฟ้าสีฟ้าเข้มตัดกับศาลาไทยที่โดดเด่น สะท้อนสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมความเป็นไทยที่ทั่วโลกรู้จักมาย่อไว้ที่เมืองอัลเมียร์แห่งนี้

 

Thailand Pavilion

 

ปลัดเกษตรฯ ชวนชมงาน

ดร.ทองเปลว  กล่าวว่า ในการจัดงาน “Thailand Pavilion” สื่อด้วย 3 โซน โซนแรก ที่เดินเข้ามา จะเป็นลักษณะ “เวลคัม ทู ไทยแลนด์” แนะนำประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์กับเนเธอร์แลนด์มาถึง 418 ปี โดยประเทศไทยตอบรับเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมงานนี้ โซนถัดมา เป็นโซนสินค้าเกษตรนวัตกรรมที่มีมาตรฐานตั้งแต่ฟาร์ม และผลผลิต สร้างความมั่นใจให้คู่ค้าทั่วโลกได้รับรู้ว่าสินค้าไทยมีมาตรฐานสูงภายใต้ BCG โมเดล (Bio-Circular-Green Economy)

 

ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรของไทย อาทิ สมุนไพร กล้วยไม้  เป็นต้น  และโซนการท่องเที่ยว มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) มาเปิดบูธ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในไทยว่าเดือนไหนควรไปเที่ยวที่ไหน โดยจัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียนในทุกเดือนตลอด 6 เดือน

 

 

ข้างใน ไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน

 

ที่สำคัญยิ่งในเดือนกรกฎาคม ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในรัชกาลที่ 10 ในศาลาไทยจะจัดงานเฉลิมพระเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ไปถึงวันที่ 3 สิงหาคม ซึ่งในวันนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมาร่วมงานด้วย ทั้งนี้ในแต่ละเดือนจะมีนิทรรศการไม่ซ้ำกัน ดังนั้นผู้สนใจต้องรีบจองคิวเข้ามา ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาส

 

ไฮไลต์ Thailand Pavilion

 

ส่อง “พืชสวนโลก” ไฮไลท์ ‘ไทยพาวิลเลียน’ ไม่เป็นสองรองใคร

 

ด้านนายเข้มแข็ง กล่าวว่า หากใครมีโอกาสมาเยี่ยมชม Thailand Pavilion จะเกิดความประทับใจตั้งแต่ทางเข้างาน ว่านี่คือประเทศ ไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความคล้ายกับเนเธอร์แลนด์ที่มีวิถีชีวิตของผู้คนเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ เห็นได้จากหน้าพาวิลเลียน จะมีเรือไทยจอดอยู่ ก้าวเดินเข้ามาก็จะเห็นไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนจะมีการแสดงไม้ดอกและไม้ใบแบบจัดเต็ม

 

ส่อง “พืชสวนโลก” ไฮไลท์ ‘ไทยพาวิลเลียน’ ไม่เป็นสองรองใคร

 

สองข้างทางพอเลี้ยวซ้ายจะเห็นอีกสัญลักษณ์ของประเทศไทยคือ “พญานาค” ส่วนข้างในจะมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนในทุกเดือนในหลายมิติที่น่าสนใจ รวมทั้งการการถ่ายทอดภาพเล่าเรื่องราวสอดแทรกความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ มีการโชว์ความสวยงามของกล้วยไม้ไทย โดยเฉพาะตระกูลแวนด้า นอกจากนี้ยังมีสินค้าไทยมาโชว์ในงาน  สามารถเปิดห้องเจรจาธุรกิจซื้อขายกันได้เลย

 

ส่อง “พืชสวนโลก” ไฮไลท์ ‘ไทยพาวิลเลียน’ ไม่เป็นสองรองใคร

 

เกษตรกรที่จะไปร่วมศึกษาดูงานในการเจรจาธุรกิจ แบ่งออกเป็น 3 รุ่น รุ่นที่ 1 ไปวันที่ 26 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2565  กลุ่มที่ศึกษาดูงานไม้ดอกไม้ประดับ การเกษตร และการตลาดมีความต้องการหรือไม่ จะต้องนำมาปรับปรุงอย่างไรให้ตรงกับตลาดยุโรป จากนั้นถึงจะมีการเจรจาหากสินค้ามีความต้องการตรงกับปลายทาง

 

เช่น คุณกรรณิการ์ เปรมประสาทสิทธิ์ เป็นเกษตรกรที่ปลูกไม้สวยงาม จังหวัดนครปฐม นางสาว กัญญาณัฐ  เขียวงานดี  เป็นเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ จังหวัดสมุทรสาคร และคุณพันศักดิ์ จิตรรัตน์ เกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกในสวนปาล์ม จังหวัดกระบี่ และนายธนกิจ ริ้วไพโรจน์เกษตรกรผู้ปลูกไม้ตะบองเพชร

 

 

ส่อง “พืชสวนโลก” ไฮไลท์ ‘ไทยพาวิลเลียน’ ไม่เป็นสองรองใคร

 

ส่วนรุ่นที่ 2 ประมาณวันที่ 21-29 กรกฎาคม 2565 เป็นเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกผัก ผลไม้ และ เกษตรอินทรีย์ เกษตรเชิงท่องเที่ยว  จะพาไปดูเน้นแหล่งที่ปลูกผัก และสิ่งอื่นเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับเกษตรกรด้วย และรุ่นที่ 3 เป็นรุ่นสุดท้ายจะเดินทางไปดูงาน วันที่ 22-29 กันยายน 2565 ทำการผลิตเกี่ยวกับไม้ผล เนื่องจากไม้ผลเป็นส่วนหนึ่งของงานพืชสวน ให้ดูงานทั้งการเกษตรและการตลาดด้วย

 

เบื้องหลังความสำเร็จ

 

ขณะที่ นายชาตรี อรรจนานันท์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก กล่าวว่า ประเทศไทยมีความโดดเด่นในแง่ของการออกแบบพาวิลเลียน หลักคิดคือ ต้องกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระแสของคนที่นี่ไม่เฉพาะเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ในสหภาพยุโรปกระแสสิ่งแวดล้อมหรือ Green เป็นจิตสำนึกไปแล้ว

 

ส่อง “พืชสวนโลก” ไฮไลท์ ‘ไทยพาวิลเลียน’ ไม่เป็นสองรองใคร

ดังนั้นสิ่งที่ไทยนำเสนอจึงใช้วัสดุ อุปกรณ์ตกแต่ง มีเรื่องราวเกี่ยวกับสายน้ำ มีต้นไม้ สื่อเหล่านี้จะทำให้คนเข้ามาชมมากขึ้น ซึ่งศิลปกรรมไทยมีอัตลักษณ์และความโดดเด่นในตัวเอง ช่วยดึงดูดสายตาไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะหากนั่งเรือชมงาน แม้จะอยู่อีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบก็จะเห็นความสวยงามของศาลาไทย ดังนั้นมั่นใจว่าจะติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของงานที่จะมีคนเข้าชมจำนวนมากแน่นอน

 

ส่อง “พืชสวนโลก” ไฮไลท์ ‘ไทยพาวิลเลียน’ ไม่เป็นสองรองใคร

 

ส่วนประเทศที่มีพาวิลเลียนอยู่ใกล้กับไทย ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น กาตาร์ แต่ละประเทศก็จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว เมื่อเห็นภายนอกแล้วก็อยากจะเข้าไปชมข้างในเช่นกัน ขณะที่ทุกบริเวณของงานจะมีสีสันบรรยากาศของดอกทิวลิปที่เป็นสัญลักษณ์ของเนเธอร์แลนด์ไว้ให้ชมในทุกมุม ถือเป็นอีกงานใหญ่ที่หากมีโอกาสไม่ควรพลาด

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,776 วันที่ 21-23 เมษายน 2565