เจาะลึก ผู้บริโภคยุคโควิดคาดหวังอะไรจากธุรกิจ Healthcare

10 เม.ย. 2565 | 11:58 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2565 | 19:27 น.

เอาท์ซิสเต็มส์ เผยความคาดหวังของลูกค้าในภาคธุรกิจบริการสาธารณสุขเปลี่ยนแปลงและต้องการการตอบโจทย์อย่างฉับไว จากธุรกิจ Healthcare

ปี 2563 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติดิจิทัลที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากกระแสการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลนี้คือ บริการสาธารณสุข ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา องค์กรต่าง ๆ ต้องรีบเร่งมองหาโซลูชันที่จะรองรับการให้บริการทางการแพทย์ผ่านการเชื่อมต่อระยะไกล

 

โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามรักษาหรือปรับปรุงคุณภาพการให้บริการและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ผู้รับบริการ

นายเติมศักดิ์ วีรขจรพงษ์ รองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอาท์ซิสเต็มส์เปิดเผยว่า เมื่อการแพร่ระบาดทั่วโลกเริ่มต้นขึ้น การขยายการให้บริการได้อย่างรวดเร็วฉับพลันกลายเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับสถานพยาบาลและหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ทำให้จำเป็นต้องมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย

 

เช่น AI ระบบงานอัตโนมัติ ระบบข้อมูล และบอทต่าง ๆ ที่รองรับการสนทนามาใช้งาน นับเป็นการยกระดับการใช้งานระบบอัตโนมัติขั้นสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการอย่างฉับไวและปรับปรุงประสบการณ์ของผู้รับบริการ

และไม่ว่าความคาดหวังของลูกค้าในภาคธุรกิจบริการสาธารณสุขจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่มีแนวโน้มที่จะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การปรับปรุงระดับการให้บริการ คุณภาพ และคุณประโยชน์ที่ได้รับ ดังนั้นผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขจะสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวเพื่อให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจได้อย่างไร?แนวโน้มสำคัญด้านประสบการณ์ลูกค้าในภาคธุรกิจบริการสาธารณสุขมีดังนี้

  1. บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Telehealth) และบริการพยาบาลทางไกล: การเข้าดูแลผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีและการให้บริการด้านสุขภาพทุกที่ทุกเวลานับเป็นแนวโน้มหนึ่งที่สำคัญ  การปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมจะช่วยให้สถานพยาบาลสามารถนำเสนอประสบการณ์หลากหลายช่องทางให้กับผู้ป่วย ผู้ดูแล และตัวแทน ด้วยการจัดหาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับทุกขั้นตอนของการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยและการให้บริการรักษาพยาบาล
  2. ปรับขั้นตอนการทำงานให้เป็นแบบอัตโนมัติและง่ายดายมากขึ้น: ในปัจจุบัน สถานพยาบาลต้องรับมือกับ Portal ที่หลากหลาย รวมไปถึงระบบสุขภาพ และช่องทางการติดต่อต่าง ๆ ส่งผลให้ขั้นตอนการทำงานแยกเป็นส่วน ๆ ไม่เชื่อมต่อกัน และก่อให้เกิดช่องว่างและความยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่ผู้ป่วย  เทคโนโลยีระบบงานอัตโนมัติจะเพิ่มความรวดเร็วในการอนุมัติ เพิ่มความสะดวกในการนัดหมายและการปรับเปลี่ยนตารางเวลา รองรับการจัดทำรายงานในทันที และลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารสำหรับประกัน
  3. ความโปร่งใสของข้อมูล: ข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ตามระบบต่างๆ ถือเป็นหนึ่งในปัญหาท้าทายสำคัญที่สุดภายในองค์กร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ  เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สถานพยาบาลจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลและระบบต่างๆ เข้าไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้ข้อมูลผู้ป่วยมีความครบถ้วนสมบูรณ์และสอดคล้องกัน
  4. ความปลอดภัยและความเชื่อมั่น: ถ้าผู้บริโภคต้องเข้ารับการตรวจร่างกายหรือการตรวจเลือด ผู้บริโภคก็คาดหวังว่าข้อมูลส่วนตัวของตนเองจะได้รับการปกป้อง รวมถึงผลการตรวจที่มีความเที่ยงตรงและถูกต้อง ดังนั้นสถานพยาบาลจะต้องใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมและกำหนดผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย และจัดการดูแลให้ผลการตรวจมีความถูกต้องและปราศจากข้อผิดพลาด