PRINC ปักธง Digital Healthcare เชื่อมโยงเครือข่าย แพลตฟอร์ม

10 ธ.ค. 2564 | 12:34 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2564 | 19:34 น.

PRINC เปิดเกมรุก Digital Healthcare ปี 2565 ดึงเทคโนโลยี 5G -เทคสตาร์ทอัพ เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงแพลตฟอร์มขยายการให้บริการทั้งในและต่างประเทศ

นายสาธิต วิทยาการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า PRINC ตั้งเป้าในการเป็น PRINC BORDERLESS HEALTHCARE PLATFORM ผ่านทำงานร่วมกันของดิจิทัลและการดูแลสุขภาพ ทางกายภาพด้วยสินค้าและบริการที่เป็นเลิศ ใน 4 ส่วนคือ Coverage, Efficiency, Collaborationและ Sociosystem

 

รวมทั้งได้วาง PRINCTECH DIGITAL ROADMAP ใน 6 ด้าน ได้แก่ COVERAGE(เทเลเฮลท์), PERSONALIZED (แพลตฟอร์มด้านสุขภาพ/IoT/เซนเซอร์/สมาร์ทดีไวซ์), CONTINUOUS (โรคเรื้อรัง/การดูแลผู้สูงอายุระยะไกล), EMERGENCY (รถพยาบาลดิจิทัล),MANLESS (หุ่นยนต์อัตโนมัติ) และ ECONOMY (ลดต้นทุนการเช่า Cloud/สถานที่และเครือข่าย)

สาธิต วิทยาการ

โดยใช้สัญญาณ 5G มาเป็น pilot project ในการสร้างเครือข่ายเฮลท์แคร์ให้เติบโตและอำนวยความสะดวกสบายและความปลอดภัยของทุกชีวิต เนื่องจากในอนาคตอันใกล้ Server และ PC จะหมดยุคไปอย่างรวดเร็ว และจะเข้าสู่ยุคดิจิตอลแอมบูแลนซ์ เช่น ยกโรงพยาบาลเข้าไปอยู่ในรถพยาบาล คนไข้สามารถรับการรักษาจากแพทย์ผ่าน 5G ได้อย่างรวดเร็ว มีความหน่วงช้าเข้าถึงโรงพยาบาลได้ผ่านมือถือ

 

นอกจากนี้ PRINC ยังทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมโดยออกกิจกรรมต่างๆ กับชุมชน โดยให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ช่วยพยาบาลในเครือถือ iPad 1 ตัวเข้าไปในชุมชนและให้แพทย์พบปะดูแลอาการรักษาและจ่ายยาเบื้องต้นผ่านเครือข่ายได้ทันที เหมือนกันยกระบบโรงพยาบาลย้ายไปอยู่ที่บ้านของคนไข้ทันที ซึ่งในปัจจุบันเครือข่าย 5G ได้กระจายไปทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศแม้จะยังอยู่ในจุดเริ่มต้นทำให้สัญญาณอาจขาดหายระหว่างทางไปบ้าง แต่เชื่อว่าในอนาคต 5G จะมีบทบาทให้การช่วยด้านเฮลท์แคร์ได้อย่างมาก

 

“PRINC มีนโยบายนำบริการทางการแพทย์เข้าถึงชุมชนให้มากที่สุด การสร้างโรงพยาบาลไม่สามารถลงไปถึงชุมชนได้และต้องใช้งบลงทุนอย่างน้อย 300-500 ล้านบาท แต่ระยะหลังเราตั้งเป็นคลินิกใกล้บ้าน ใกล้ใจตามอำเภอต่างๆ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือ 12 แห่งและ 16 คลินิก”

 

นอกจากนี้ยังได้สร้างโปรเจ็กต์ PRINC Next Gen นำพนักงานในองค์กรเข้ามาทำ workshop เพื่ออัพสกิลรีสกิลการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ เพื่อรองรับการทำงานในระบบแพทย์ทางไกลนี้

โรงพยาบาลพริ้นซ์

“เราทำเครือข่ายโรงพยาบาลการขับเคลื่อนนั้นสำคัญ การมี 5G ช่วยจะทำให้การเปิดโรงพยาบาลทำได้ทุกที่ไม่ว่าในเมืองหรือชายแดน แค่นี้สัญญาณโทรศัพท์หรือสัญญาณ 5G บวกกับเครื่องมือสื่อสารเช่นIpadหรือโทรศัพท์ เราสามารถตั้งโรงพยาบาลได้ภายใน 1 สัปดาห์ ดังนั้น 5G จะทำให้เฮลท์แคร์สามารถกระจายไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับเม็ดเงินลงทุนที่ลดลง”

 

สำหรับปี 2565 พริ้นซิเพิลตั้งเป้าขยายเครือข่ายโรงพยาบาลเป็น 20โรงพยาบาลและ 100 คลินิกใกล้บ้าน ใกล้ใจ กระจายไปยังต่างจังหวัด เพราะเทคโนโลยี 5G เข้ามาช่วยให้การเชื่อมต่อเครือข่ายทำได้รวดเร็วขึ้นและทำให้คลินิกใกล้บ้าน ใกล้ใจ สามารถให้บริการสุขภาพได้เหมือนโรงพยาบาลทุกอย่างและอาจจะให้บริการได้เร็วกว่าโรงพยาบาลเนื่องจากความซับซ้อนและขั้นตอนน้อยกว่า ทำให้การขยายสาขาทำได้รวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายได้มาก

 

นอกจากนี้พริ้นซิเพิลยังทำโปรเจ็กต์ “หมอในบ้าน” เปลี่ยนพื้นที่ขนาดเล็กให้เป็นคลินิกเคลื่อนที่อัจฉริยะที่มีอุปกรณ์ครบครัน หรือ Smart Mobile Clinic โดยนำ IoT เข้ามาช่วยสร้าง KIOSK ซึ่งคนไข้สามารถเข้ามาในตู้และพบหมอผ่านเทเลเมดิซีนภายในตู้เพื่อให้หมอวินิจฉัยและจ่ายยาซึ่งมียาเท่าที่จำเป็นติดตั้งในตู้ ได้ตลอด 24 ชม. โดยมีแผนจะนำ KIOSK หมอในบ้าน ไปติดตั้งในชุมชน นิคมอุตสาหกรรมคอนโดและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการติดตั้งได้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 และกระจายไปติดตั้งในพื้นที่ห่างไกลต่างจังหวัดอีกด้วย

โรงพยาบาลพริ้นซ์

อีกความเคลื่อนไหวที่เห็นภาพชัดเจนในปี 2565 นี้คือ จะใช้เงินลงทุนราว 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การขยายธุรกิจโรงพยาบาลให้ได้ 20 แห่ง ซึ่งเบื้องต้นมีการเจรจาจะเข้าซื้อกิจการ (M&A) 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปได้ในเร็วๆนี้ โดยใช้เงินลงทุนราว 1,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ทั้งการเริ่มจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นเทคสตาร์ทอัพเพื่อช่วยให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว่าพาร์ทเนอร์ที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งจะมีความอุ้ยอ้ายมากกว่า

 

ช่วงที่ผ่านมาได้จับมือกับ Obodroid ระบบโลจิสติกส์ในการส่งยาในโรงพยาบาล โดยใช้หุ่นยนต์ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจในการเข้าถึงคนไข้แบบลดการสัมผัส และ Long Distance X-Ray Interpretation/ Teleconsult การทำเอ็กซเรย์ผ่านระบบทางไกลและให้คำแนะนำทางการรักษาระยะไกลจากแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลเครือข่าย

 

“ในปี 2564 บริษัทใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านบาทในการเข้าเป็นพาร์ทเนอร์กับสตาร์ทอัพ 2 ราย เพื่อเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพพัฒนาและวางระบบข้อมูล รวมถึง Big Data เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลลูกค้าให้มากที่สุด รวมถึงด้านระบบความปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจ ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและยังเป็นฐานข้อมูลสำคัญในอนาคตด้วย”

 

นอกจากนี้บริษัทมีแผนขยายศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุ (Eldery Care Center) ทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล เช่น คอนโดขนาด 60 ห้องขึ้นไป อีก 6 สาขาจากปัจุบันมีเพียง 1 สาขา ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรบริษัทญี่ปุ่น ที่มีความเชี่ยวชาญสูง แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องของบุคลากรที่มีทักษะ ความชำนาญ ซึ่งจะต้องผ่านการฝึกใน อบรม เพราะการบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ จะต้องใช้บุคลากร 3-4 คนดูแลคนไข้ 1 คน

 

“คลินิกเวชกรรม ใกล้บ้าน ใกล้ใจ และคลินิกชุมชนอบอุ่นซึ่งเราร่วมกับภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการส่งเสริมให้คนในชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน โดยการใช้ 5G เข้ามาช่วยและให้ผู้ช่วยพยาบาลลงพื้นที่ชุมชน ทำให้ต้นทุนลดลง การเชื่อมต่อข้อมูลเร็วขึ้น

 

เพราะการทำธุรกิจโรงพยาบาลไม่ใช่แค่เรื่องเงินลงทุน-กำไรแต่ต้องดูว่าเราจะเซฟชีวิตคนไข้ได้มากแค่ไหน 5G มันจะช่วยเซฟชีวิตของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น ตอนนี้เรายังอยู่ในยุคเริ่มต้นของการใช้ 5G ซึ่ง supply chain ของ 5G จะค่อยๆเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ก็จะต้องมีเทคโนโลยีอย่างอื่นเข้ามาช่วยด้วย โรงพยาบาลเองก็ต้องมีการรีสกิล เรื่องเทคโนโลยีให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย”

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,738 วันที่ 9 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564