สร้างโอกาสยุคโควิด "ไมเนอร์ "รุกลงทุนขยายธุรกิจเวลเนส 100แห่งทั่วโลกใน 5 ปี

09 เม.ย. 2565 | 09:05 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2565 | 16:22 น.

ไมเนอร์ กรุ๊ป นอกจากจะบุกเบิกธุรกิจอาหาร และธุรกิจโรงแรมจนสร้างชื่อไปทั่วโลกแล้ว ล่าสุดยังเปิดแนวรุกหันเข้ามาจับธุรกิจเวลเนสอย่างจริงจัง ภายใต้เป้าหมายการขยายธุรกิจด้านเวสเนสและสปา รวม 100 แห่งทั่วโลกใน 5 ปีนี้

นายวิลเลี่ยม อี. ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล  จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจเวลเนสทั่วโลก มีมูลค่าตลาดอย่างที่ราว 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงมากและเป็นตลาดที่มีศักยภาพ อีกทั้งหลังจากเกิดโควิด-19 คนจะยิ่งหันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไมเนอร์ฯก็มองโอกาสในการขยายการลงทุนในธุรกิจเวลเนสเพิ่มมากขึ้น

ร่วมลงทุนอินเดียผุด VLCC หัวหิน

 

โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะขยายธุรกิจด้านเวลเนส ให้เพิ่มขึ้นเป็น 100 แห่งทั่วโลกภายใน 5 ปีนี้  ซึ่งสามารถต่อยอดการขยายธุรกิจนี้ ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ที่ไมเนอร์ดำเนินธุรกิจด้านเวลเนส อยู่แล้ว และการมองโอกาสในการขยายแบรนด์ใหม่ๆได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันไมเนอร์ ดำเนินธุรกิจเวลเนส รวมทั้งหมด 4 แบรนด์ในรูปแบบโมเดลการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันไป ได้แก่ 

 

1. ศูนย์การบำบัด ดูแลสุขภาพ และความงาม ในแบบองค์รวม ภายใต้แบรนด์ VLCC ซึ่งเป็นแบรนด์เวลเนส ผู้ให้บริการทางด้านความงามและสุขภาพรายใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีสาขามากถึง 217 แห่งใน 11 ประเทศ ซึ่งล่าสุดไมเนอร์ ได้ร่วมลงทุนกับ VLCC เพื่อเปิดให้บริการ VLCC ณ โรงแรม อวานี พลัส หัวหิน รีสอร์ท เป็นแห่งแรกในไทย เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนในโรงแรมควบคู่กับการดูแลสุขภาพ รวมถึงการรับลูกค้าทั่วไป ที่ต้องการใช้บริการด้านการบำบัด ดูแลสุขภาพ  และความงาม 

โดย VLCC จะออกแบบโปรแกรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละบุคคล จากโปรแกรมวิเคราะห์เฉพาะบุคคล เพื่อให้ดูแลสุขภาพได้ตรงกับประสิทธิผลของแต่ละบุคคล ทั้งการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ทันสมัย การทำทรีตเมนต์ศาสตร์อินเดีย การควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก การออกกำลังกายที่เหมาะสม ซึ่งจะมีโปรแกรม ตั้งแต่ 1-7 วัน ให้ลูกค้ามีความยืดหยุ่นในการใช้บริการ

 

 

2.การเปิดให้บริการ “VIVID By Verita” (ศูนย์ความงามและชะลอวัย) ซึ่งได้ร่วมลงทุนกับพาร์ทเนอร์  Verita Health  (เวอริตา เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จากสิงคโปร์) เปิดให้บริการ วิวิต บาย เวอริตา เฮลธ์ ที่โรงแรม อนันตรา สยาม กรุงเทพ

 

3. การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์กับ “Clinique La Prairie” สวิสเซอร์แลนด์ เปิดให้บริการ Clinique La Prairie Aesthetics & Medical Spa (คลีนิก ลา แพรรี เอสเธติค แอนด์ เมดิคอล สปา) ที่โรงแรม เดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพ ซึ่งดำเนินการในลักษณะแฟรนไชส์ 

 

4. การร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ กับมั่นคงเคหะการ และ ร.พ บำรุงราษฎร์ เปิดให้บริการ “รักษ” (RAKxa) ศูนย์บูรณาการสุขภาพและการแพทย์แบบองค์รวม ตั้งอยู่ในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ซึ่งไมเนอร์ เข้าไปเป็นพันธมิตรในด้านบริหารที่พักและอาหารให้ 

 

ธุรกิจเวลเนสในเครือไมเนอร์

ผนึกพันธมิตรขยายเวลเนสทั่วโลก

 

ผมมองว่าเวลเนส เป็นธุรกิจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ ที่มีกำลังซื้อสูงให้มาใช้บริการได้ และยังเป็นเทรนด์หลังโควิดที่ได้รับการตอบรับจากตลาดที่ดีจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างๆ อย่าง การเปิด VLCC ที่หัวหิน เราก็สามารถดึงตลาดอินเดีย โดยเฉพาะกลุ่มงานแต่งงานอินเดีย เข้ามาใช้บริการได้ด้วย  และประเทศไทยมีศักยภาพในธุรกิจเวลเนส  มีโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก เวลเนสในไทยจึงเป็นตลาดใหญ่ที่มีโอกาส และน่าจะเป็นผู้นำด้านเวลเนสในระดับโลกได้ 

 

ขณะเดียวกันเราก็มองว่าการร่วมมือกับพันธมิตรเวลเนสระดับโลก ทั้งจากสิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ และอินเดีย ภายใต้แบรนด์ต่างๆที่เราเปิดให้บริการอยู่ ก็จะร่วมกันขยายธุรกิจเวลเนสไปได้ทั่วโลก ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ และกีฬา ที่สามารถขยายต่อยอดไปได้ เพราะไมเนอร์มีโรงแรมกว่า 529 แห่งทั่วโลก ซึ่งแบรนด์เวลเนสไหนจะเหมาะสม ต้องดูทั้งเรื่องของโลเคชั่นที่เหมาะสม รวมถึงความเหมาะสมในแต่ละตลาดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดจีน

 

การลงทุนเวลเนสแต่ละแห่งก็จะอยู่ที่ราว 20-30 ล้านบาท อาทิ VLCC หัวหิน ลงทุนราว 20 ล้านบาท “La Prairie” ที่กรุงเทพฯ ลงทุนราว 40 ล้านบาท เราไม่ได้มองเรื่องตัวเงินว่ามากหรือน้อย แต่มองไปที่ทำแล้วจะกระตุ้นให้คนมาใช้บริการได้มากขึ้นมากกว่า และมองว่าจะทำยังไงให้ประเทศชาติกลับมาฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง เวลเนส ก็จะเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ได้ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ 

 

ขยายโรงแรมเพิ่มอีก 71แห่งใน 3 ปี

 

เป้าหมายที่จะขยายโรงแรมเพิ่มอีก 71 แห่งในอีก 3 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไมเนอร์ มีจำนวนโรงแรมในพอร์ตโฟลิโอเพิ่มเป็น 600 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 529 แห่ง การขยายการลงทุนไม่เป็นปัญหา เพราะเรามีเงินสดในมือหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หลักหมื่นล้านบาท) และไมเนอร์ฯ ก็ดำเนินการเพิ่มทุนตามแผนแล้ว

 

อีกทั้งสิ่งสำคัญในขณะนี้ ผมอยากให้รัฐบาลเร่งเปิดประเทศแบบไม่มีเงื่อนไขในวันนี้ เหมือนหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ มัลดีฟส์ อินเดีย ดูไบ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ที่ตอนนี้เขาเปิดทุกอย่าง แต่ไทยแม้จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวก่อนประเทศเหล่านี้ แต่วันนี้การเปิดของไทยในแบบค่อยๆทยอยปลดล็อกข้อจำกัดเช่นนี้ จะทำให้เรากลายเป็นประเทศสุดท้าย ไม่ใช้ต้องรอถึงวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เพราะมันช้าเกินไป  ควรต้องเปิดให้หมดโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงสงกรานต์นี้ ไม่ใช่มาตั้งกฏเกณฑ์การเดินทางเข้าไทยที่เยอะแยะเช่นนี้

 

ถ้ารัฐบาลเปิดประเทศแบบไม่มีเงื่อนไขโดยเร็ว ก็เชื่อว่าการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาสู่ภาวะปกติภายใน 1 ปี แม้จะไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน แต่ก็ยังมีตลาดอื่น อย่างยุโรป อินเดีย อเมริกาใต้ หรือแม้แต่ซาอุดีอาระเบีย ที่ไม่ได้มีสัมพันธ์ทางการทูตกันมานานกว่า 32 ปี วันนี้เปิดแล้วโอกาสที่จะเดินทางกลับมาเที่ยวไทยก็มีสูง 

 

เราต้องการให้รัฐบาลซัพพอร์ตเรื่องการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ถ้าเปิดประเทศ ธุรกิจก็จะดึงลูกค้ากลับมา โดยเฉพาะตลาดเวลเนสที่จะเติบโต ธุรกิจก็จะขับเคลื่อนเพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาพลิกฟื้นได้อีกครั้ง 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,772 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2565