จี้กขค.ตรวจสอบผลกระทบ "ซีพีควบรวมโลตัส" 1ปีปฏิบัติตาม 7 มาตรการหรือยัง

19 มี.ค. 2565 | 07:35 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2565 | 14:41 น.
878

"อนุดิษฐ์" ประธานกมธ.ฯ ชี้ควบรวม "ซีพี-โลตัส" ส่งผลกระทบซัพพลายเออร์ ราคาสินค้า ทำประชาชนซื้อของแพง จ่อเรียกกขค.แจง ผ่านไป 1ปี 2 บิ๊กปฏิบัติตาม 7 มาตรการหรือไม่

จากกรณีที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุมัติให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ควบรวมกิจการได้ โดยมีมติ 4 ต่อ 3 ภายใต้ข้อกำหนดมาตรการ 7 ข้อเพื่อลดหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่หลังการรวมธุรกิจ

 

ต่อมาองค์กรผู้บริโภคได้ยื่นคำรองต่อศาลปกครองให้มีการทบทวนเพราะเกรงจะกระทบทั้งในเรื่องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้บริโภคในระยะยาว นับจากดีลการควบรวมครั้งประวัติศาสตร์จนมาถึงวันนี้เป็นระยะเวลาปีเศษ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง  

 

โลตัส

โดยนาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานฯคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง True กับ DTAC และการค้าปลีก - ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยผ่านรายการ "บทบาทกรรมาธิการ" เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 กรณีผลกระทบจากการควบรวมกิจการการค้าปลีก - ค้าส่ง ว่า  กมธ.ฯได้เชิญนายสมเกียรติ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการ ในการควบรวมกิจการซีพี-โลตัส ภายใต้ประโยชน์ของประชาชน

 

โดยกมธ.ได้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากการควบรวมแล้วมีผลกระทบแบบไหนอย่างไร แต่ก่อนศึกษาผลกระทบ ได้ย้อนดูอำนาจในการอนุญาตให้มีการควบรวมก่อน

 

"เวลาที่ กมธ. จะพิจารณาให้ 2 บริษัทควบรวมจะต้องอธิบายให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะพิจารณา 4 ประเด็น คือ

  1. ความจำเป็นในการควบรวมธุรกิจ
  2. ควบรวมแล้วเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหรือไม่
  3. เมื่อควบรวมแล้วจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง
  4. จะไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคซึ่งก็คือประชาชน"

ทั้งนี้ตามเกณฑ์การพิจารณา 4 ข้อดังกล่าวมีคณะกรรมการที่เห็นควรให้อนุญาตควบรวมแบบมีเงื่อนไข 4 คน ขณะที่อีก 3 คนไม่เห็นด้วยให้ควบรวม โดยเห็นว่าเกณฑ์การพิจารณา 4 ข้ออาจยังไม่เพียงพอ และยังมีหลายแง่มุมที่ควรนำมาพิจารณา

โลตัส

โดยเฉพาะในแง่มุมของการส่งเสริมทางธุรกิจซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทางผู้ควบรวมแน่นอนและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงหรือการกระจุกตัวทางตลาดและการมีอำนาจทางตลาดที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรีเทลลิงค์อื่นหรือผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดใหม่ที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากส่วนแบ่งทางการตลาด70% และอาจจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคในด้านราคาสินค้า

 

"หากการควบรวมเกิดขึ้นอาจทำให้ผู้ประกอบการมีเอ้าท์เลทขนาดใหญ่และมีสินค้ารอขายเยอะที่สุด ผู้ประกอบการอาจจะสามารถเข้ามาคุมตลาดตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำได้เลย สุดท้ายผู้ประกอบการอาจจะมีเสรีในการกำหนดราคาหรือมีเสรีในการกีดกันไม่ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและซัพพลายเออร์รายเล็กในการวางจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีก ค้าส่ง ของเครือซีพีและโลตัส"

 

ทั้งนี้ กมธ. ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการครั้งนี้ทั้งข้อดีและข้อไม่ดี โดยไม่ตัดสินว่าผ่านมากระบวนการก่อนหน้านี้ถูกหรือผิด แต่มองไปยังกฎหมายที่ทำให้เกิดการควบรวมนี้ขึ้นว่าครอบคลุมครบถ้วนแล้วหรือควรจะต้องเพิ่มเติมอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ อย่างน้อยที่สุด 2 เรื่อง คือ จะต้องเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศและต้องไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้บริโภคหรือต้องยึดเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

โลตัส
นอกจากนี้นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ ยังตั้งข้อสังเกตถึง เงื่อนไข 7 ประการในการควบรวมกิจการในครั้งนี้ว่า หลังจากการควบรวมซีพี-โลตัสได้หนึ่งปีมีการติดตามและรายงานให้ประชาชนทราบถึงข้อขัดข้องจากการดำเนินงานตามเงื่อนไข 7 ข้อที่ใช้เป็นมาตรการให้2 ธุรกิจควบรวมอย่างมีเงื่อนไขหรือไม่ การกำกับดูแลมาตรการดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะควบคุมไม่ให้เกิดอำนาจเหนือตลาด และไปตามแผนการส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเจริญเติบโตปีละ 10 % โดยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และการใช้ทรัพยากรที่มีหรือไม่

 

ดังนั้นมาตรการ 7 ข้ออาจไม่เพียงพอที่จะควบคุมไม่ให้เกิดอำนาจเหนือตลาดซึ่งประเด็นนี้ทางกรรมการแข่งขันทางการค้าจะต้องเข้ามาชี้แจงเกี่ยวข้อสังเกตต่างๆกับกมธ.อีกครั้ง