บิ๊กซี เดินหน้า CRM รีแบรนดิ้ง ‘บิ๊กพ้อยท์’

11 มี.ค. 2565 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 22:16 น.
1.5 k

บิ๊กซี รุกกลยุทธ์ซีอาร์เอ็มรีแบรนดิ้ง “บิ๊กซีการ์ด” สู่ “บิ๊กพ้อยท์” ปลุกกำลังซื้อเมมเบอร์ ทุ่ม 100 ล้านเพิ่มสิทธิประโยชน์ เผยสมาชิก 17.4 ล้านยังแอคทีฟ 70% มั่นใจขยายฐานลูกค้าเพิ่มอีก 1 ล้านรายในปีนี้

นายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บิ๊กซีให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management : CRM) อย่างมาก โดยปัจจุบันบิ๊กซีมีสมาชิกบัตร “บิ๊กซีการ์ด” จำนวน 17.4 ล้านสมาชิก ซึ่งจำนวนนี้ 70% มีการใช้จ่ายต่อเนื่อง และมียอดการซื้อสินค้าสูงกว่าลูกค้าทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิกราว 50% ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสในการกระตุ้นกำลังซื้อของลูกค้าผ่านกลยุทธ์ CRM มากขึ้น

 

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาบริษัทจึงรีแบรนดิ้งซีอาร์เอ็ม แพลต ฟอร์มของบิ๊กซีใหม่ เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนชื่อ จากบิ๊กซีการ์ดเป็น “บิ๊กพอยท์” พร้อมปรับภาพลักษณ์ใหม่ทั้งหมดให้ดูทันสมัย เพิ่มสิทธิ์ประโยชน์และมูลค่าที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ส่วนลดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่เป็นเพื่อนใน LINE Big C TH และเมื่อสมัครสมาชิกบิ๊กพ้อยท์ จะได้แต้มบิ๊กพ้อยท์ 100 คะแนน พร้อมคูปองส่วนลดมากกว่า 2,700 บาท ทันที

บิ๊กซี

สมาชิกบิ๊กพ้อยท์จะได้รับข่าวสาร เช็คคะแนน โปรโมชั่น ส่วนลดพิเศษสินค้า เล่นเกมแลกของรางวัล เช็คดวงกับอาจารย์คฑา ฯลฯ ส่วนสมาชิกบิ๊กพ้อยท์ ที่เป็นเพื่อนใน LINE Big C TH หรือใช้งาน Mobile Application ก็จะได้รับคูปองส่วนลดเฉพาะบุคคลทุกเดือน ซึ่งมีทั้งส่วนลดทั้งห้าง และส่วนลดสินค้าซึ่งเป็นสินค้าและส่วนลดที่ ออกแบบให้เหมาะกับการจับจ่ายของลูกค้าแต่ละท่าน

 

นอกจากนี้สมาชิกบิ๊กพ้อยท์ ยังสามารถแลกรับส่วนลดและบริการจากร้านค้าพันธมิตรมากมาย อาทิเช่น เพิ่มมูลค่าคะแนนบิ๊กพ้อยท์จากปกติ 8 คะแนนแลกส่วนลดได้ 1 บาท เป็น 1 คะแนนแลกได้ 1 บาทในช่วงเวลาพิเศษ เป็นต้น

 

“สินค้าที่สมาชิกบิ๊กพ้อยท์เลือกซื้อมากที่สุดได้แก่ 1. สินค้าอุปโภคบริโภค 2. เนื้อสัตว์ และ 3. ของสด ขณะที่การตัดสินใจซื้ออันดับแรกมาจาก ราคาและโปรโมชั่นที่คุ้มค่า, รอยัลตี้โปรแกรม การแลกคะแนนบิ๊กพ้อยท์ และบรรยากาศภายในร้าน รวมถึงร้านอาหารและร้านค้าพันธมิตรต่างๆ”

บิ๊กซี

ทั้งนี้บิ๊กซีเตรียมใช้งบลงทุนในการรีแบรนดิ้ง “บิ๊กพ้อยท์” กว่า 100 ล้านบาท โดยเป็นการให้ส่วนลดของแคมเปญ Extra point burn บิ๊กพ้อยท์เพิ่มค่า แลกได้มูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น ใช้บิ๊กพ้อยท์ 1 คะแนนแลกรับส่วนลด 1 บาทในวันพิเศษ นอกจากนี้ยังใช้ลงทุนในการพัฒนาระบบการวิเคราะห์ Big data และ Loyalty program เพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีขึ้นในการช้อปปิ้งกับบิ๊กซีมากขึ้น

 

ล่าสุด บิ๊กซีร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พื้นที่พระนครใต้ เปิดให้บริการบิ๊กซี มินิ สาขามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พื้นที่พระนครใต้ เป็นสาขาที่  1,358 ในรูปแบบร้านสะดวกซื้อบิ๊กซี มินิ จัดจำหน่ายสินค้าสะดวกซื้อกว่า 5,676 รายการ อาทิ อาหารสด อาหารแห้ง เบเกอรี่ เครื่องอุปโภคบริโภค อาหารพร้อมทาน ของใช้ภายในบ้าน

บิ๊กซี

พร้อมบริการเสริม เช่น บริการจ่ายบิล เติมเงินค่าโทรศัพท์ ฝาก-ถอนเงิน และบริการส่งพัสดุ นอกจากนี้ที่นี่จะเป็นแหล่งปฏิบัติงานจริงให้กับนักศึกษาในการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการกับการทำงาน (Work-Integrated Learning: WIL) เน้นการเรียนในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการทำงานในสถานประกอบการจริงด้วย

 

นายปฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น กำลังซื้อการจับจ่ายต่างๆ บิ๊กซีตั้งใจออกแบบสิทธิประโยชน์ของบัตรบิ๊กพ้อยท์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมาชิก เพื่อให้ได้ช้อปปิ้งสินค้าในราคาที่ถูกลง และยังมีแผนปรับปรุงสาขาเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ตอบรับไลฟ์สไตล์นิวนอร์มอลในปีนี้ต่อเนื่องตลอดปีด้วย อย่างไรก็ดีหลังการรีแบรนดิ้งบิ๊กพ้อยท์ในครั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคนด้วย

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,763 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2565