บิ๊กซี คาด "น้ำมันแพง" อาจกระทบต้นทุนขนส่งชัดเจนในไตรมาส 2

10 มี.ค. 2565 | 18:51 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 02:05 น.

บิ๊กซี ประเมิณ ภาวะ"น้ำมันแพง" หากยืดเยื้ออาจเห็นผลกระทบที่ชัดเจนต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในเรื่องพลังงานชัดเจนในไตรมาสที่สอง ส่วน กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ด้านเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 4/64 มีสัญญาณบวกกำไรฟื้นตัวปิด 3,051 ล้านบาท

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวว่า “ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจพลังงานและน้ำมันที่เห็นผลได้ชัด ในส่วนกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี มีธุรกิจแก้วเป็นธุรกิจที่ต้องใช้พลังงาน ไทยกลาสใช้แก๊สธรรมชาติ อุตสาหกรรมทิชชูใช้พลังงานไฟฟ้า และการขนส่งของธุรกิจบิ๊กซี

 

แต่บริษัทสามารถวางแผนบริหารจัดการในแผนระยะยาว เพราะฉะนั้นในไตรมาสแรกด้านพลังงานอาจจะยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มธุรกิจบีเจซี บิ๊กซี อย่างไรก็ตามหากมีความยืดเยื้อคาดว่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในเรื่องพลังงานชัดเจนในไตรมาสที่สอง ทั้งนี้ บริษัทวางแผนและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง”

 

ด้าน นายรามี บีไรเนน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่า “ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 4/64 อยู่ที่ 40,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตของรายได้จากการขายและให้บริการที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มธุรกิจรวม อยู่ที่ 37,317 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,214 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

รวมถึงกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์และกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ กลับมาเติบโตเป็นบวกเมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาสที่ 4 หลังการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไตรมาสที่ 3

ในขณะที่รายได้อื่นอยู่ที่ 3,173 ล้านบาท ลดลง 355 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากรายได้ค่าเช่าในกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ลดลง เนื่องจากการให้ส่วนลดค่าเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเช่าพื้นที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตามรายได้ค่าเช่ากลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาสก่อนหน้า”

 

ยอดขายกลับมาเติบโตดีขึ้นในไตรมาส 4/64 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัท ซึ่งสามารถชดเชยการลดลงของรายได้อื่นและอัตรากำไรขั้นต้นที่อ่อนตัวลงเล็กน้อย ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีเงินได้ของบริษัทอยู่ที่ 3,051 ล้านบาท ในไตรมาส 4/64 เพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิสำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 1,383 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 

 

รายได้รวมของบริษัท ปี 2564 อยู่ที่ 150,139 ล้านบาท ลดลง 4.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากยอดขายที่ลดลงและรายได้ค่าเช่าพื้นที่ลดลงในกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ จากผลกระทบด้านลบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นระหว่างปีรายได้รวมที่ลดลงส่งผลให้กำไรสุทธิสำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัท ปี 2564 อยู่ที่ 3,585 ล้านบาท ลดลง 10.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

บีเจซี ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจและปรับตัวตามสถานการณ์ ด้วยการจัดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ การขยายฐานลูกค้า รวมถึงการพัฒนาช่องทางการขายโดยเชื่อมโยงช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน นอกจากนี้บริษัทยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าขยายเครือข่ายร้านค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมาย ด้วยการเปิด บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต 2 สาขา บิ๊กซี มินิ 155 สาขา (รวมถึงบิ๊กซี มินิ สาขาแรกในประเทศกัมพูชา) และร้านขายยาเพรียว 2 สาขา

 

ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 154 สาขา ร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต 61 สาขา (บิ๊กซีมาร์เก็ต 38 สาขา และบิ๊กซี ฟู้ดเพลส ซูเปอร์มาร์เก็ต 10 สาขา บิ๊กซีดีโป้ 11 สาขา และเอ็มเอ็ม ฟู้ด เซอร์วิส 2 สาขา) บิ๊กซี มินิ1,353 สาขา และร้านขายยาเพรียว 146 สาขา และวางแผนขยายร้านขายยาสิริฟาร์มา เพิ่มขึ้น 2 สาขาภายในปี 65