เลิกคิดนำเข้าเนื้อหมู การบริโภควูบ ราคาปรับตัวลดลง จะนำเข้ามาเพื่อ?

06 ก.พ. 2565 | 16:06 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2565 | 23:22 น.
791

ณัฐภัทร ร่มธรรม นักวิชาการอิสระ ด้านการเกษตร เขียนบทความเรื่อง “เลิกคิดนำเข้าเนื้อหมู หยุดผลักภาระให้คนเลี้ยง” ระบุ ณ ปัจจุบันการบริโภคหมูไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับลดลง ปัญหาอยู่ที่ไม่มีคนกิน ตั้งคำถามแล้วจะนำเข้ามาเพื่ออะไร?

 

แม้ว่าขณะนี้ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศจะร่วมกันลดราคาหมูหน้าฟาร์มลงมาที่ 102-104 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นสัปดาห์ที่ 5 ที่ภาคผู้เลี้ยงได้ช่วยสนับสนุนประชาชนลดค่าครองชีพแล้วก็ตาม แต่ทว่าราคาหมูหน้าเขียงในหลายพื้นที่กลับไม่ได้ลดลง จนทำให้ประเด็นราคาเนื้อหมูยังเป็นที่สนใจของสังคมอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

กลายเป็นประเด็นที่ทำให้บางฝ่ายหยิบยกมาหาแนวทางแก้ปัญหา ด้วยการเรียกร้องให้มีการนำเข้าเนื้อหมู เพื่อให้ปริมาณผลผลิตเพียงพอกับความต้องการบริโภค ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ความต้องการบริโภค ณ วันนี้ ไม่ได้เพิ่มขึ้น ในทางกลับกันผู้บริโภคกลับลดการบริโภคเนื้อหมูลงไปอย่างมาก ดูอย่างช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี ที่เรียกว่าเป็นนาทีทองของพ่อค้าแม้ขายทั้งหมู ไก่ ปลา แต่ปีนี้การจับจ่ายสินค้าของลูกค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะกำลังซื้อที่หดตัวจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

เลิกคิดนำเข้าเนื้อหมู การบริโภควูบ ราคาปรับตัวลดลง จะนำเข้ามาเพื่อ?

 

 

แม้ราคาสินค้าในท้องตลาดจะไม่ได้ปรับขึ้นดังที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงสถานการณ์ราคาสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนว่า ได้กำกับราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ 100-110 บาทต่อกิโลกรัม และหมูเนื้อแดงหน้าเขียงอยู่ที่ 205-210 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันราคาต่ำกว่าราคากำกับเฉลี่ย 11% โดยขายเฉลี่ยทั่วทั้งประเทศ 187.19 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาไก่ ปกติจะสูงขึ้นมากในช่วงตรุษจีน แต่ปีนี้ไก่หน้าฟาร์ม กิโลกรัมละไม่เกิน 40 บาท และราคาไก่ทั้งตัวที่จำหน่ายใน 3 ห้างใหญ่ แม็คโคร โลตัส และบิ๊กซี 710 สาขาทั่วประเทศ กิโลกรัมละไม่เกิน 65 บาท

 

ระดับราคาที่เห็นนี้เท่ากับว่าสินค้าไม่ได้แพง แต่ปัญหาอยู่ที่ไม่มีคนกินมากกว่า แล้วอย่างนี้จะให้นำเข้าเนื้อหมูเข้ามาเพื่ออะไร? นี่จึงเป็นคำถามที่ภาคผู้เลี้ยงยังคงคาใจ เพราะหากมองในระยะยาวแล้ว การนำเข้าเนื้อหมูเข้ามาในไทยนั้น ไม่ต่างอะไรกับการผลักภาระปัญหาให้กับคนเลี้ยง

 

เลิกคิดนำเข้าเนื้อหมู การบริโภควูบ ราคาปรับตัวลดลง จะนำเข้ามาเพื่อ?

 

 

เรื่องนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยน.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย บอกว่าการนำเข้าเนื้อหมู ชิ้นส่วน และหมูแปรรูปจากต่างประเทศมาพยุงราคาในประเทศนั้น ถือเป็นการทำลายกลไกการเลี้ยงหมูของไทย เพราะหมูนำเข้าราคาถูกกว่าหมูไทย จากต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำกว่ามาก เนื่องจากรัฐบาลของต่างประเทศให้การอุดหนุนต้นทุนการเลี้ยง จึงสามารถขายหมูในราคาถูกได้ ขณะที่ เกษตรกรไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนการเลี้ยงหมูที่พุ่งสูงเองทั้งหมด แต่กลับไม่สามารถขายหมูในราคาที่สะท้อนต้นทุนได้ หากยอมให้หมูนอกเข้ามา เกษตรกรไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ก็จะทิ้งอาชีพและเลิกเลี้ยงหมูกันไปหมด ถึงวันนั้นความมั่นคงทางอาหารของประเทศต้องถูกทำลาย

 

ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบที่สุด หากจำเป็นต้องนำเข้าเนื้อหมู ผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ต้องเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้เท่านั้น เพื่อกำหนดจำนวนและชิ้นส่วนที่จะนำเข้ามา ไม่ให้กระทบกับผู้เลี้ยงในประเทศ รวมทั้งเก็บค่าธรรมเนียม (Surcharge) สำหรับนำไปช่วยเหลือผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต่อไป

 

ส่วน นายแพทย์ภาคภูมิ พีรวรสกุล เจ้าของณัฐพงษ์ฟาร์ม จ.หนองบัวลำภู ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะแก้ปัญหาหมูราคาแพงด้วยการนำเข้าเนื้อหมู ที่ยิ่งซ้ำเติมพี่น้องเกษตรกรรายย่อย รวมถึงคนที่เลี้ยงหมูแล้วไม่เป็นโรคแทนที่จะได้ลืมตาอ้าปาก หรือคนที่เลี้ยงแล้วเสียหายก็ยังพอมีกำลังใจในการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนที่ยังคงปลอดภัยอยู่ แต่ถ้าต้องเจอทั้งเรื่องโรคระบาด แล้วยังเจอราคาหมูตกต่ำ จากที่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับหมูนอกได้อีก ย่อมทำให้วงจรอาชีพเลี้ยงหมูรายย่อยหายไปจากระบบอย่างแน่นอน

 

ทางด้าน ศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “การนำเข้าเนื้อหมู” อาจทำให้ราคาหมูในประเทศถูกลงก็จริง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ “เกษตรกรรายย่อยที่ยังเหลืออยู่จะขายหมูไม่ได้ และจะไม่มีเงินมากพอที่จะนำไปใช้ปรับปรุงระบบการเลี้ยง” สุดท้ายก็คงรอการเข้าโจมตีของโรคและยุติอาชีพในที่สุด ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเขาเลย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้องขาดทุนสะสมจากราคาหมูตกต่ำมาตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา

 

เลิกคิดนำเข้าเนื้อหมู การบริโภควูบ ราคาปรับตัวลดลง จะนำเข้ามาเพื่อ?

 

วันนี้สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ คือการสนับสนุนให้เกษตรกรที่หยุดเลี้ยงหมูไปก่อนหน้านี้รีบกลับเข้าระบบให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันต้องเร่งช่วยลดภาระของเกษตรกร โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจาก ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 30-40% กลายเป็นภาระนักที่ตกอยู่กับผู้เลี้ยงสัตว์ รัฐบาลจึงควรสนับสนุนภาคเกษตรกรรมให้บรรลุเป้าหมายการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ มากกว่าการนำเข้าที่เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ที่จะก่อปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรกร อีก 107,157 รายที่เหลืออยู่ให้ต้องแบกรับ ต่อเมื่อภาระนั้นเกินจะรับไหว คงถึงคราวที่อาชีพเลี้ยงหมูต้องล่มสลาย และความมั่นคงทางอาหารของไทยต้องพังทลายในที่สุด