“ซีพี ออลล์” ผุดโปรเจค “ชุมชนไร้ถัง” โมเดลสร้างรายได้จากขยะ

02 มี.ค. 2565 | 14:07 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2565 | 21:24 น.

“ซีพี ออลล์” ขับเคลื่อนสังคมสีเขียวตั้งโครงการชุมชนไร้ถัง พร้อมเปิดให้บริการธนาคารขยะ และศูนย์จัดการขยะชุมชนบ้านมั่นคงชุมชนบางบัวพร้อมเปลี่ยนเป็นเงินสด แก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชน

ปัญหาใหญ่ของสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนอันยากที่จะจัดการในปัจจุบัน คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของการจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอย ขยะมีพิษ ขยะพลาสติก ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากจำนวนประชากรในชุมชน และคงปฏิเสธข้อกล่าวหาได้ยากว่าต้นเหตุของเรื่องนี้ล้วนมาจากเรา ๆ ที่จัดการขยะอย่างไม่เหมาะสมทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับสภาพแวดล้อมของคนในชุมชน นำไปสู่ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอาจกลายเป็นวัฏจักรที่พาขยะล่องลอยจากชุมชนแม่น้ำลำคลองออกสู่ทะเล จนเกิดเป็นปัญหาใหญ่ในที่สุด

“ชุมชนไร้ถัง” โครงการที่เน้นที่การจัดการปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนอย่างครบวงจร ถอดแบบมาจากโครงการอย่าง “ต้นกล้าไร้ถัง” หนึ่งในโครงการต้นแบบจากโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ภายใต้การดูแลของ ซีพี ออลล์

โดยริเริ่มขึ้นที่โรงเรียนอนุบาลทับสะแก ผลคือโครงการดังกล่าวสามารถลดจำนวนขยะได้มากถึง 98% จึงได้ต่อยอดมายังชุมชนริมคลองลาดพร้าว และเพิ่มการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และจัดการขยะในพื้นที่ชุมชน โดยนำร่องโครงการที่บ้านมั่นคงชุมชนบางบัว เขตบางเขน

นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการ สานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ อธิบายว่า วิธีการของชุมชนไร้ถังคือเน้นที่การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างในครัวเรือนด้วยการคัดแยกขยะเข้าสู่ศูนย์จัดการวัสดุที่ตั้งขึ้นมา แต่ที่ต่างออกไปคือโมเดลนี้จะเรียกขยะด้วยคำว่า “วัสดุ” เพราะวัสดุคือสิ่งที่ยังใช้ได้และมีมูลค่า เพื่อให้สมาชิกได้นำเอาวัสดุที่ถูกคัดแยกมาฝากไว้กับระบบธนาคารขยะในศูนย์ฯ ก่อนนำขยะหรือวัสดุนั้นไปแปรเปลี่ยนเป็นประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชน

 

            “ในศูนย์จัดการวัสดุจะบริหารงานด้วยนวัตกรรมระบบการจัดเก็บข้อมูลวัสดุรีไซเคิล เมื่อสมาชิกได้นำวัสดุเหลือใช้มาคัดแยกในศูนย์ฯ ระบบจะบันทึกข้อมูลทั้งหมด แล้วประสานงานกับบริษัทรีไซเคิลต่าง ๆ เพื่อมารับซื้อไป โดยที่ระบบจะดำเนินการคำนวณวัสดุที่มาฝากเป็นมูลค่าเงิน เพื่อปันผลคืนให้กับสมาชิกเป็นเงินสดกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนวัสดุที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ เช่น กล่องยูเอชที ถุงพลาสติก ก็จะมีบริษัทนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาใช้งานในชุมชนอีกที หรือส่วนที่รีไซเคิลไม่ได้ เช่น เศษอาหาร ใบไม้ จะถูกนำไปหมักเป็นปุ๋ยมาใช้ประโยชน์เช่นกัน

 

วิธีคิดนี้จะทำให้เราจัดการทุกสิ่งออกจากถังขยะทั้งหมด ตามชื่อชุมชนไร้ถัง ปริมาณขยะจะลดลงอย่างเห็นผล ส่งผลให้ไม่มีขยะออกสู่สังคมหรือตกลงไปในลำคลองอีกต่อไป”

 

นอกไปจากจุดประสงค์ที่ต้องการลดขยะในเขตชุมชนริมคลองแล้ว โครงการชุมชนไร้ถังยังมุ่งต่อยอดสร้างพฤติกรรมจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดขยะหลุดจากกระบวนการออกสู่สิ่งแวดล้อม ไปเป็นต้นเหตุของก๊าซเรือนกระจกในชั้นโอโซน ฉะนั้นวัสดุทุกชิ้นศูนย์จัดการฯ จึงมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ โดยที่ระบบจะเป็นตัวเก็บข้อมูลและคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โครงการจัดการได้อีกด้วย

 

“โครงการชุมชนไร้ถังจะมีการประเมินทุก ๆ 3 เดือน ว่าปริมาณขยะลดลงจากที่เป็นอยู่ในระดับไหน ก่อนที่เราจะสรุปผลในช่วงปลายปี เพื่อพัฒนาโมเดลนี้ขยับไปสู่ชุมชนริมคลองอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอีก 12 ชุมชน และขยายไปพื้นที่อื่นในอนาคต ซึ่งถ้าเรารวมความสำเร็จของชุมชนไร้ถังเข้ากับโครงการต้นกล้าไร้ถังจากกลุ่มโรงเรียน นั่นหมายถึงทุกภาคส่วนของสังคมจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะในสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ลดปัญหาขยะพลาสติกในแม่น้ำ คลอง ทะเล และขับเคลื่อนสังคมสีเขียวได้อย่างยั่งยืน”