ซี.พี.แลนด์ รุกบัดเจท โฮเทล ซินเนอร์ยีธุรกิจทรู ดิจิตอล -ซีพี ออลล์

25 พ.ย. 2564 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2564 | 17:55 น.
1.1 k

ซี.พี.แลนด์ กางแผน 5 ปี ทุ่ม 2,200 ล้านบาท ขยายโรงแรมใหม่ 39 แห่ง โฟกัสบัดเจท โฮเทล ประเดิมปีหน้า 5 แห่ง ซินเนอร์ยีธุรกิจกับกลุ่มซีพี ผนึก ทรู ดิจิตอล-ซีพี ออลล์ นำเทคโนโลยีมาใช้ สร้างจุดแข็งธุรกิจโรงแรม

แม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรม แต่ด้วยการท่องเที่ยวของไทยยังเป็นจุดแข็งของประเทศ ทำให้การขยายธุรกิจโรงแรมของกลุ่ม ซี.พี.แลนด์ ในอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง  แต่มีการปรับแนวคิดการขยายธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวปัจจุบันเปลี่ยนไปหลังเกิดโควิด

 

นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารโรงแรมในเครือฟอร์จูน บริษัทซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เผยว่าธุรกิจท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ จะค่อยๆทยอยฟื้นตัว ไม่ได้ฟื้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งในปีนี้แม้ธุรกิจโรงแรมจะได้รับผลกระทบมากจากโควิด-19 แต่ด้วยบริษัทมีธุรกิจทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงานอยู่ในหัวเมือง 30 กว่าอาคารใน 29 จังหวัด ทำให้ปีนี้ซี.พี.แลนด์ยังมีกำไรอยู่ในระดับตัวเลข 3 หลัก

 

สุนทร อรุณานนท์ชัย

เนื่องจากได้ธุรกิจอาคารสำนักงานที่มีรายได้สม่ำเสมอเข้ามาช่วย โดยเฉลี่ยการเช่าในต่างจังหวัดอยู่ที่เกิน 60% ส่วนในกรุงเทพฯเกิน 90% และหลังการคลายล็อกดาวน์ก็ทำให้โรงแรมในต่างจังหวัดมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 50-60% ยกเว้นโรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนห้องพักกว่า 402 ห้อง ที่ยังไม่ดีนัก อัตราการเข้าพักยังไม่ถึง 10% เนื่องจากต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงการจัดประชุมสัมมนา

 

ผมมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปี 2565 จะดีกว่าปีนี้ ซี.พี.แลนด์ ก็ยังมีแผนขยายโรงแรมต่อเนื่อง โดยต่อไปจะเน้นจังหวัดเมืองท่องเที่ยว ด่านการค้าชายแดน แหล่งอุตสาหกรรม โดยบริษัทจะหันมาโฟกัสลงทุนในโรงแรมที่เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และรองรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ที่มีรูปแบบท่องเที่ยวที่เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น กลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ ที่นิยมเดินทางท่องเที่ยว เพื่อหาประสบการณ์

นายเชิดชัย กมลเนตร รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจโรงแรมในเครือฟอร์จูนกรุ๊ป กล่าวว่าแผนขยายธุรกิจโรงแรมของซี.พี.แลนด์ในอีก 5 ปีนี้ (ปี 2565-2569) จะเพิ่มจำนวนโรงแรมจาก 13 แห่งในปัจจุบันขึ้นมาเป็น 52 แห่ง โดยมีแผนจะสร้างโรงแรมอีก 39 แห่ง ใช้งบลงทุนราว 2,200 ล้านบาท โดยมองการลงทุนโรงแรมบัดเจท โฮเทล ภายใต้แบรนด์ฟอร์จูน ดี และ ฟอร์จูน ดี พลัส (มีบริการอาหารเช้า) เป็นหลัก รวมถึงการขยายแบรนด์ฟอร์จูน ที่เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว+ถึง 4 ดาว

 

เชิดชัย กมลเนตร

 

การลงทุน บัดเจท โฮเทล ใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะจะให้บริการแต่เฉพาะห้องพักเท่านั้น จำนวนห้องพักไม่เกิน 78 ห้อง เฉลี่ยการลงทุนอยู่ที่ 60-70 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งตอบโจทย์ที่ดินซึ่งเรามีอยู่ในภูมิภาคที่ไม่ใช่จุดท่องเที่ยวหลักหรือเมืองใหญ่ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าคนไทย โดยในปีหน้ามีโรงแรมที่อยู่ในระหว่างการวางแผนการลงทุนจำนวน 5 แห่ง

 

ได้แก่ 1.โรงแรมฟอร์จูน ดี จ.ปราจีนบุรี ลงทุนไม่เกิน 50 ล้านบาท(ไม่รวมที่ดิน) 2.โรงแรมฟอร์จูน ดี ขอนแก่น ที่จะแบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกจะเริ่มในไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ปีหน้า และเฟส 2 จะอยู่ข้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น (KICE) ซึ่งจะเป็น 2 อาคาร รวมห้องพัก 156 ห้อง 3.โรงแรมฟอร์จูน ดี จ.สมุทรสาคร ข้างๆนิคมอุตสาหกรรม โดยทั้ง 3 โครงการนี้น่าจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า 4.โรงแรมฟอร์จูน ดี จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับโรงแรมฟอร์จูน บุรีรัมย์ ที่เปิดให้บริการอยู่แล้วปัจจุบัน และ 5.โรงแรมที่ระยอง ใกล้ๆ กับนิคมอุตสาหกรรมแถวนั้น

 

ซี.พี.แลนด์

ขณะที่การลงทุนโรงแรมระดับ 3 ดาว+ถึง 4 ดาว อย่างแบรนด์ฟอร์จูน มูลค่าการลงทุนราว 300 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งเรามองการลงทุนในเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา หัวหิน ภูเก็ต ซึ่งทำเลตรงนี้เรายังไม่มีที่ดิน แต่อยู่ระหว่างหาซื้อโรงแรมมารีโนเวท ต้องพิจารณาด้วยว่าถ้าซื้อมาแล้วและรีโนเวทจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ โดยก็มีคนเสนอขายอยู่หลายราย

 

นอกจากนี้เรายังมองว่าที่จะซินเนอร์ยีธุรกิจกับกลุ่มซีพี เพื่อสร้างจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจโรงแรมโดยร่วมกับ ทรู ดิจิตอล และ ซีพี ออลล์ นำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น โรงแรมแบรนด์ฟอร์จูน ดี จะไม่มีบริการอาหาร แต่จะมีการนำเครื่องเวนดิ้ง แมชชีน มาติดตั้งเพื่อให้ลูกค้าที่เข้าพักใช้บริการซื้ออาหารแทน หรือบางที่ก็จะพัฒนาด้านหน้าโรงแรมขายเบลลินี ที่อาจจะทำเป็นเฟรนไชส์ หรือเราทำเอง ซึ่งเราจะเน้นเลือกคู่ค้าที่อยู่ในเครือของซีพีก่อน

 

รวมไปถึงการร่วมกับทรู มันนี่ ทำเรื่องของรอยัลตี้ โปรแกรมเพื่อใช้ในการแลกแต้ม เช่นเมื่อลูกค้ามาเข้าพักโรงแรมทุก 1 พันบาทจะได้ 5 พ้อยท์ สะสมไปเรื่อยๆ ก็สามารถเอาพ้อยท์โอนเป็นเงินสดเข้า ทรู มันนี่ วอลเล็ท สามารถใช้ซื้อสินค้าในเซเว่นได้ โดยจะเริ่มได้ในเดือนมกราคม 2565 จุดขายเหล่านี้ไม่เพียงจะทำให้ลูกค้ามาใช้บริการโรงแรมของซี.พี.แลนด์มากขึ้น เรายังมองว่าจะเสริมให้ต่อไปการขยายการรับบริหารโรงแรมของเรา ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นด้วย

 

นายเชิดชัย กล่าวต่อว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าการมีโรงแรมเพิ่มขึ้นจาก 13 แห่งเป็น 52 แห่ง จะทำให้ซี.พี.แลนด์ มีรายได้จากธุรกิจโรงแรมเพิ่มจาก 720 ล้านบาทต่อปี(ก่อนเกิดโควิด) เพิ่มเป็น 1,500 ล้านบาทต่อปีในอีก 8 ปีข้างหน้า ส่วนธุรกิจโรงแรมหลังโควิดจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้เมื่อไหร่ หลายคนคาดการณ์ว่าจะเป็นปี2566 แต่ผมคิดว่าจะรู้ได้ชัดเจนว่าท่องเที่ยวจะกลับมาได้เท่าเดิมเมื่อไหร่ ต้องรอดูสถานการณ์ประมาณช่วงไตรมาส 4 ปีหน้าถ้ายังไปได้ดีปี66 ก็น่าจะหวังผลได้ แต่ถ้ายังแผ่วอยู่ก็ต้องรอไปอีก 2 ปี สำหรับการเดินทางเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

แต่สำหรับการเดินทางเที่ยวในประเทศ ก็ไม่มีปัญหาเห็นได้จากหลังการคลายล็อกดาวน์โรงแรมในต่างจังหวัดของซี.พี.แลนด์  ก็ได้รับการตอบรับที่ดี อย่างโรงแรมที่เขาใหญ่ นครศรีธรรมราช อัตราเข้าพักสูงถึง70-80 % บางโรงแรมก็อยู่ที 50-60%