อนาคต อสมท.หลังคว้าประมูล 47 คลื่นเอฟเอ็ม

24 ก.พ. 2565 | 11:49 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2565 | 20:44 น.

อสมท.ทุ่ม500ล้านบาทคว้าประมูล 47 คลื่นวิทยุทั้งกรุงเทพและภูมิภาค พร้อมกาง4โรดแมปเคลื่อนอสมท.ทั้งระบบ ตีคู่ทั้งธุรกิจเดิมและขยายดิจิทัลแพลตฟอร์มมั่นใจ 5ปีคืนทุน

หลังจากวันที่21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กสทช. ได้เปิดประมูลคลื่นวิทยุระบบเอฟเอ็ม โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลกว่า 30 บริษัท ซึ่งการเปิดประมูลครั้งนี้นับว่าเป็นการประมูลคลื่นวิทยุครั้งใหญ่ในรอบ 92 ปี

สรุปประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม

โดยหลังจากเสร็จสิ้นประมูล อสมท. บิ๊กเพลย์เยอร์ของตลาดเป็นผู้เสนอราคาสูงสุด รวมทั้งสิ้น 47 คลื่น แบ่งเป็น พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน41 คลื่น

 

รศ. เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการประมูลครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 92 ปี ของการประมูลคลื่นความถี่สูงระบบระบบเอฟเอ็ม ซึ่งอสมท.ถือเป็นหน่วยงานที่ยื่นประมูลมากที่สุดจำนวน 55 คลื่นแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 49 คลื่น  

 

ในการพิจารณายื่นประมูลทั้ง 55 คลื่น อสมท. พิจราณาจากองค์ประกอบ 3 ส่วนคือความสามารถในการสร้างผลกำไร ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) และความรับผิดชอบในบทบาทภารกิจทางสังคม

 

โดยใช้งบในการประมูลกว่า  500 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงิรเกินครึ่งมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ และ เพิ่มเติมบางส่วนจากสินเชื่อสถาบันการเงิน ซึ่ง อสมท.เชื่อว่าจะสามารถชำระคืนภายในระยะเวลา 5 ปี โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ 

 

สำหรับผลการประมูลฯ ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ โดย อสมท.เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด รวมทั้งสิ้น 47 คลื่น แบ่งเป็น พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน41 คลื่น เมื่อ สำนักงาน กสทช.รับรอง ผลการประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บมจ.อสมท จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระดับชาติเพียงรายเดียว เนื่องจากมีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) ทุกภูมิภาค ตามเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. กำหนด  

 

สำหรับคลื่นวิทยุที่ บมจ.อสมท ไม่ได้ยื่นประมูล รวมถึงประมูลไม่ได้ในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของอสมท. อย่างมีนัยยะสำคัญเพราะบริษัทยังมีศักยภาพที่จะออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศโดยใช้การออกอากาศจากสถานีข้างเคียงและร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาเครือข่ายร่วมกันได้

 

ผู้บริหารกล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้ อสมท. จะเร่งสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ฟังและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อตอกย้ำถึงจุดแข็งของธุรกิจวิทยุที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ มีความพร้อมด้านบุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สตูดิโอ สถานีออกอากาศ เครื่องส่ง เป็นต้น 

 

โดยโรดแมปการทำธุรกิจหลังจากนี้ อสมท.วางโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการโดยเน้นใน4ส่วนสำคัญคือ 1  การจัดผังรายการให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย  การจัดสรรช่วงเวลาออกอากาศ (Broadcasting Time Allocation) ระหว่างสถานีวิทยุแต่ละแห่งกับการออกอากาศของเครือข่ายคลื่นส่วนกลาง และ การผลักดันคู่ขนานระหว่างการออกอากาศในรูปแบบเดิมกับรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Traditional & Digital Platforms) รวมถึงการจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้ฟังและแฟนคลับ (On Ground Events) 

 

“สิ่งหนึ่งที่จะขับเคลื่อนจากนี้ต่อไปโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นวิทยุ เราจะดำเนินการใน 4มุมด้วยกัน 1คือการปรับปรุงโครงสร้างในการทำงานของวิทยุ  2 การปรับรูปแบบในการบริหารจัดการซึ่งเรากำลังพิจารณาอยู่ว่าจะดำเนินการในรูปแบบไหนอย่างไรแต่คงต้องมีรูปแบบการบริหารงานใหม่ๆ 3 วิธีการออกอากาศระหว่างส่วนกลางและภูมิภาคและท้องถิ่นที่เราอยากดำเนินการต่อไปและสำคัญที่สุดเราจะซิงโครไนซ์ระหว่างดิจิตอลแพลตฟอร์มที่จะเกิดขึ้นกับวิทยุและทีวีด้วยนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่กำลังดำเนินการอยู่”

 

นอกจากนี้ อสมท.ยังให้ความสำคัญกับความสามารถในการเพิ่มรายได้ การควบคุมค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบต่อสังคมในบทบาทของการเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ  เมื่อย้อนดูผลประกอบการของ อสมท.ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจวิทยุสร้างรายได้ให้กับอสมท. 24-25 % ซึ่งรายได้นี้เป็นประมาณการที่อสมท.ทำต่อเนื่องมาถึงปี 65

 

อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมา อสมท. มีคลื่นวิทยุในมือ 60 คลื่น และได้ยื่นประมูลคลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็มในครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 55 คลื่น โดยเป็นผู้เสนอราคาสูงสุด รวมทั้งสิ้น 47 คลื่น พลาดเป้าไปถึง 8 คลื่น หมายความว่าหลังจากนี้ไปคลื่นวิทยุในมือของ อสมท.จะลดลง

 

“สำหรับคลื่นวิทยุที่ได้กลับมา47 คลื่นไม่มีนัยยะในแง่การประมาณรายได้เพราะเรามีการทำหลายๆซีเนริโอขึ้นมา เช่นคลื่นที่เราตัดสินใจไม่ลงทุนเพราะสามารถที่จะทดแทนกันได้ในเรื่องของการปรับปรุงธุรกิจ ซึ่งในการประมูลครั้งนี้เราพิจารณาเลือกประมูลใน 3 factor คือ1เรื่องของความสามารถในการทำกำไรหรือ performance 2 เรื่องของความเป็น network 3 คือการรับผิดชอบทางสังคมเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารที่เรากระจายจากส่วนกลางออกไปเช่นข่าวต้นชั่วโมง

 

เราจึงตัดสินใจที่จะตัดออกไปป 5 คลื่นเช่น mellow 97.5 ซึ่งมีลักษณะเป็น pop culture ผู้ฟังในคลื่นนี้จะเป็นวัยรุ่นซึ่งเหมาะกับสื่อออนไลน์มากกว่าประกอบกับเราสามารถที่จะรวบ mellow กับคลื่นที่เรามีในกรุงเทพฯเพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าความเป็น mellow จะหายไปทั้งหมด แต่จะออกมาในรูปแบบอื่นไม่ว่าจะเป็นการผสานกับคลื่นความถี่อื่นในกทม.หรือในรูปแบบของคลื่นออนไลน์ ดังนั้นจำนวนคลื่นที่หายไปไม่ได้ส่งผลต่อธุรกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

และตอนนี้เราพยายามที่จะทยอยนำเสนอสิ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นมา เพราะเรามีแอสเสทค่อนข้างเยอะที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด”

 

จุดแข็งของสสวทคือ 1 ความแข็งแกร่งของข่าวซึ่งเป็นซอสที่จะออกเป็นทีวีวิทยุ 9 ต่อไปเราจะมุ่งสู่สิ่งที่เรียกว่า digital แต่การก้าวไปเราไม่ได้ก้าวไปแบบก้าวกระโดดอย่างเดียวแต่จะต้องมีการผสานกับสื่อเดิมที่เรามีด้วยเราจะก้าวไปพร้อมๆกันระหว่างสื่อเดิมและสื่อใหม่ในลักษณะของการซินเนอร์จี้และเราก็กำลังพัฒนาแพลตฟอร์ม digital ซึ่งในระยะเวลาอันสั้นน่าจะเปิดตัวออกมาให้ได้เห็นกันและเราจะพาสารกับสื่อดั้งเดิมที่เรามีอยู่ด้วย


หลังจากสำนักงาน กสทช. ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเท่ากับราคาที่ชนะรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แจ้งข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบริการด้านกระจายเสียง  เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะประมูล