ค้าปลีกอ่วม พิษ‘โอมิครอน’ ฉุดความเชื่อมั่น-กำลังซื้อวูบ

15 ม.ค. 2565 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 22:45 น.
531

พิษ “โอมิครอน” กระทบหนักอุตสาหกรรมค้าปลีก ฉุดความเชื่อมั่น กำลังซื้อผู้บริโภคลด เร่งปรับแผนรองรับ เสริมทัพออนไลน์ ลดต้นทุน ลดจ้างงาน

การระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมค้าปลีก ซึ่งเบื้องต้นแม้ภาครัฐจะยังไม่มีมาตรการเข้มข้นในการสั่งปิดหรือล็อกดาวน์ แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน รวมถึงมาตรการของภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดที่ไม่ชัดเจน กลายเป็นตัวฉุดทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการลงทุนใหม่ๆ ลดลง

 

จากตัวเลขผลสำรวจ ความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนธันวาคม 2564 ที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกเดือน พบว่า ในเดือนธันวาคม 2564 ที่เริ่มมีการแพร่ ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว ทำให้ความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย การจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ปลายปีคึกคัก แต่ไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย โดยมียอดซื้อต่อบิลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและเกิด จากราคาสินค้าที่ปรับขึ้น ซึ่งไม่ผิดจากที่คาดการณ์ไว้เท่าใดนัก

ค้าปลีก

“ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์” รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สะท้อนให้ฟังว่า การสำรวจรอบนี้อยู่ในช่วงที่เกิดการระบาดของโอมิครอนแล้ว และประเมินว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นแม้ยอดขายในช่วงนี้จะเพิ่มขึ้นจากยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sale Growth : SSSG) แต่ก็เกิดจากความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และยอดซื้อต่อบิล (Spending per Bill หรือ Per Basket Size) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นเป็นหลัก

 

“ตัวเลขนี้ไม่ใช่เกิดจากกำลังซื้อที่แท้จริง สะท้อนว่ายังต้องการ แรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมเรื่องการยกเลิกกิจกรรมข้ามปีของบางพื้นที่ ที่ส่งผลให้การจับจ่ายปลายปีต้องชะงัก”

 

สิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนคือ ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกเดือนธ.ค. 64 ซึ่งอยู่ที่ 68.4 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 6 จุด เมื่อเทียบกับดัชนี เดือนพ.ย. ที่ 62.1 สะท้อนถึงมู้ดของการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ปลายปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร

ค้าปลีก

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะปรับลดลง 4 จุดจากระดับ 69.7 ในเดือนพ.ย. มาที่ 65.1 เดือนธ.ค. สะท้อนถึงความความกังวลต่อการแพร่ระบาดโอมิครอนที่กระจายไปกว่า 30 จังหวัด (สำรวจระหว่างวันที่ 17-24 ธันวาคม 2564)

 

หากดูจากดัชนีความเชื่อมั่น แยกตามภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเมื่อเทียบกับเดือนพ.ย. โดยเฉพาะ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากมาตรการผ่อนปรนความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดที่ชัดเจนขึ้น และการที่ประชาชนเริ่มท่องเที่ยวในประเทศตามภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น

 

ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเมื่อจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือนพ.ย.และเดือนธ.ค. พบว่า เพิ่มขึ้นทุกประเภทร้านค้า ยกเว้นร้านค้าประเภทห้างสรรพสินค้า จากบรรยากาศการจับจ่ายช้อปปิ้ง ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมาย เนื่องจากผู้บริโภครอความหวังจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ที่ควรเกิดในปลายปี 2564 แต่เลื่อนเป็นต้นปี 2565 แทน

 

“การประเมินกำลังซื้อและแนวโน้มการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอนจากมุมมองผู้ประกอบการ” พบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา มาจาก 1. มาตรการการกระตุ้น การจับจ่ายภาครัฐ 2. การจัดโปรโมชั่นของร้านค้า 3. การขายผ่านออนไลน์ ขณะที่ความกังวลต่อการแพร่ระบาดโอมิครอน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. กังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว 2. ลูกค้างดการทำกิจกรรมนอกบ้าน และ 3. กังวลต่อมาตรการที่อาจต้องล็อคดาวน์

 

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ เตรียมความพร้อมในการปรับแผนธุรกิจเพื่อรองรับการระบาดของโอมิครอน ต่อเนื่องจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า โดยพบว่า 63% เตรียมแผนขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น 40% ปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่าย ลดการจ้างงาน ส่วน 30% เลือกที่จะดำเนินธุรกิจตามปกติ เว้นแต่ภาครัฐสั่งให้ปิด ขณะที่สิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีก ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ ได้แก่ เพิ่มการลดหย่อนภาษีและลดภาระค่าใช้จ่าย 58% เพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและต่อเนื่อง 55% และ ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงาน 43%

 

“ฉัตรชัย” บอกอีกว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวจากพิษโควิดในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่องของภาครัฐถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ SMEs และภาคธุรกิจไทยได้อีกครั้ง

 

นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มการจ้างงาน และสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบค้าปลีกและบริการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้ประกอบการไม่ สามารถรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการหยุดชะงักด้วยมาตรการเข้มงวด ดังนั้นการลดการแพร่ระบาดของโอมิครอนให้กระจายอยู่เพียงในวงจำกัด เชื่อว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังขยับตัวดีขึ้นน้อยที่สุด