JETRO ปั้น “JAPAN MALL” ปลุกกระแสอีคอมเมิร์ซสินค้าญี่ปุ่นครั้งใหญ่

20 ส.ค. 2564 | 12:08 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 19:27 น.

JETRO กรุงเทพฯ ฝ่ากระแสโควิดปลุกการจับจ่ายสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่น จับมือพันธมิตรแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของไทย รวมทั้งบายเออร์ และร้านดรักสโตร์ญี่ปุ่น จัดโครงการ JAPAN MALL 2021 ส่งเสริมการจำหน่ายเครื่องสำอางและของใช้ในชีวิตประจำวันจากญี่ปุ่นสู่ผู้บริโภคชาวไทย

จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์และผู้บริโภคก็ลดการเดินทางออกไปจับจ่ายใช้สอยตามห้างร้าน เปิดโอกาสให้ระบบการค้าขายผ่าน อีคอมเมิร์ซ ทำหน้าที่อุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นและมีกระแสตอบรับอย่างคึกคัก สะท้อนจากการขยายตัวของระบบอีคอมเมิร์ซที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกในขณะนี้

 

ท่ามกลางบริบทดังกล่าว องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JETRO) กรุงเทพฯ จึงได้ริเริ่ม โครงการ JAPAN MALL (เจแปนมอลล์) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างเจโทรกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของต่างประเทศ และบายเออร์ด้านอีคอมเมิร์ซ ร่วมกันส่งเสริมการแนะนำและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าของประเทศญี่ปุ่น ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น

JETRO ปั้น “JAPAN MALL” ปลุกกระแสอีคอมเมิร์ซสินค้าญี่ปุ่นครั้งใหญ่

โครงการนี้จัดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ต่อเนื่องจากครั้งแรกที่จัดขึ้นในปี 2563 ซึ่งมีการจำหน่ายเครื่องสำอางที่ผลิตในญี่ปุ่นรวม 799 รายการจาก 75 แบรนด์ผ่านทาง 2 บริษัทแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่าง Lazada และแพลตฟอร์มเครื่องสำอางรายใหญ่อย่าง “Konvy” ในครั้งนั้น ซึ่งมีช่วงจัด  4 เดือน ปรากฏว่า มีผู้มาเยี่ยมชมเว็บไซต์ประมาณ 260,000 คน เครื่องสำอางจากญี่ปุ่นที่เคยจำหน่ายในตลาดเมืองใหญ่เป็นหลัก เริ่มขยายตลาดไปยังต่างจังหวัดด้วย

 

นอกจากนี้ ยังจำหน่ายทางออฟไลน์ควบคู่ไปด้วยผ่านร้านขายยา (ดรักสโตร์) ชื่อดังจากญี่ปุ่นอย่าง “มัทสึโม โตะ คิโยชิ” และ “ซูรูฮะ” ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในฐานะช่องทางจำหน่ายหลักสำหรับเครื่องสำอางของญี่ปุ่น และมีการจัดโปรโมชันโดย การจัดชั้นวางสินค้าโดยเฉพาะสำหรับโครงการ JAPAN MALL

JETRO ปั้น “JAPAN MALL” ปลุกกระแสอีคอมเมิร์ซสินค้าญี่ปุ่นครั้งใหญ่

เจโทรเปิดเผยว่า สำหรับโครงการ JAPAN MALL ในปีนี้ แตกต่างไปจากเดิม โดยตั้งเป้าจะเข้าถึงผู้บริโภคในไทยในวงกว้างขึ้น ด้วยการแนะนำและจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์เฉพาะกิจของ 3 บริษัท คือ “Lazada” “Konvy” และ “Shopee”

 

ส่วนสินค้าที่นำมาจำหน่าย นอกจากเครื่องสำอางเหมือนปีก่อน ก็เพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาอีก จำพวกผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ/ทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย เช่น ผลิตภัณฑ์อาบน้ำอย่างสบู่ แชมพู และผงแช่อาบน้ำ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สกินแคร์

 

เนื่องจากพบว่า ผู้บริโภคยุคนี้ มีความสนใจด้านการดูแลสุขภาพและสุขอนามัย ทั้งทางจิตใจและร่างกายเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษจากทั่วประเทศญี่ปุ่นโดยความร่วมมือของ “โมริโตโม” “อาราตะ” และ “โอยามา” ซึ่งเป็นบายเออร์ (บริษัทจัดซื้อ) สินค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องสำอางและของใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้มีสินค้าพร้อมพรั่งมากถึง 1,512 ชนิดจาก 102 แบรนด์ (ข้อมูล ณ ปัจจุบัน และมีแผนจะเพิ่มเติมอีกในภายหลัง)

 

นอกจากการจำหน่ายทางออนไลน์แล้ว โครงการ JAPAN MALL ยังมีการจำหน่ายทางออฟไลน์ควบคู่กันไป โดยจำหน่ายผ่านหน้าร้านขายยาจากญี่ปุ่นที่มาเปิดในประเทศไทย 49 สาขา ของ “มัทสึโมโตะ คิโยชิ” (27 สาขา) และ “ซูรูฮะ” (22 สาขา) ด้วยความพยายามเหล่านี้ จึงเชื่อว่า ปี 2564 นี้จะเป็นอีกปีที่ JETRO ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากขึ้นได้รู้จักถึงข้อดีของผลิตภัณฑ์ญี่ปุ่น เพื่อที่ผลิตภัณฑ์ญี่ปุ่นจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม “สุขภาพกับความงาม” ของชาวไทยต่อไป

 

นายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า แม้มีข้อจำกัดนานัปการจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ทางเจโทรก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการนี้ จะเป็นโอกาสที่จะได้แนะนำเครื่องสำอางและของใช้ในชีวิตประจำวันจากญี่ปุ่นหมวดสินค้า “สุขภาพกับความงาม” ให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รู้จักผ่านโครงการ JAPAN MALL กันอีกครั้ง ซึ่งปีนี้เป็นการจัดครั้งที่สอง

 

ทั้งนี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยในปีที่ผ่านมา (2563) มีการขยายตัวมากขึ้นจากปีก่อนหน้า 33.8%  ส่วนปี 2564 นี้ ก็คาดว่าจะขยายใหญ่ขึ้นในอัตรา 26.6% ถือเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยศักยภาพและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี

JETRO ปั้น “JAPAN MALL” ปลุกกระแสอีคอมเมิร์ซสินค้าญี่ปุ่นครั้งใหญ่