รีเทิร์นเปิดบริการ ห้าง-ร้านอาหาร ชูมาตรการเข้มป้องโควิด

31 ก.ค. 2564 | 05:45 น.
2.0 k

ห้างค้าปลีก-ร้านอาหาร ชงมาตรการเข้มทั้งป้องกันและเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมศบค. คลายล็อกให้ร้านอาหารในห้างรีเทิร์นกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงการขายผ่านออนไลน์และดีลิเวอรีเท่านั้น 

การประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ 13 จังหวัดแบบเข้มข้น โดยเฉพาะการปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้ มอลล์ ส่งผลให้ "ร้านอาหารในห้าง" ต้องปิดให้บริการไปด้วย ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการร้านอาหารนับหมื่นล้านและพนักงานอีกนับแสนชีวิต

 

หลังมีเสียงเรียกร้องจำนวนมาก ศบค. จึงส่งสัญญาณว่าจะคลายล็อกดาวน์ให้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงการขายผ่านออนไลน์เท่านั้น แต่ทั้งผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้ารวมถึงร้านอาหารต่างเตรียมความพร้อมทันที

 

นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของศบค.อย่างเคร่งครัด ด้วยเป้าหมายที่ต้องการช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยลดลง

 

ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า มาตรการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างที่ต้องปิดบริการ ห้างเองก็เข้าช่วยเหลือทั้งการจัดโปรโมชั่นช่วยเคลียร์สต็อกของสด ขณะเดียวกันก็มีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้เช่า

รีเทิร์นเปิดบริการ ห้าง-ร้านอาหาร ชูมาตรการเข้มป้องโควิด

อย่างไรก็ดีหากศบค. คลายล็อกดาวน์ให้ร้านอาหารในห้างกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แม้จะกำหนดให้บริการเพียงดีลิเวอรี ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการรวมถึงพนักงานมีรายได้เข้ามา ทั้งนี้บริษัทมีความพร้อมเต็มที่ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของศบค.

 

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งจุดให้บริการดีลิเวอรีนอกอาคาร ที่เน้นความปลอดโปร่ง อากาศที่ถ่ายเทได้ดี พร้อมมาตรการดูแล ป้องกันพนักงานไรเดอร์ การตรวจ rapid test พนักงานที่ต้องเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในศูนย์ การจัด Social Distancing เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้ร้านอาหารพัฒนาเมนูใหม่ที่เหมาะกับการให้บริการดีลิเวอรี เพื่อเน้นจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะ เช่น แพ็กเกจจิ้ง ที่สะดวกเหมาะกับการขนส่ง เป็นต้น

 

“การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ว่าจะเป็นร้านใหญ่ กลางหรือเล็ก อย่างร้านอาหารในฟู้ดคอร์ท ซึ่งมีสัดส่วนราว 30% ของร้านอาหารทั้งหมดและได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะเป็นร้านเล็ก มีสาขาน้อย การกลับมาให้เปิดบริการได้จะช่วยทำให้มีรายได้และพยุงธุรกิจได้”

รีเทิร์นเปิดบริการ ห้าง-ร้านอาหาร ชูมาตรการเข้มป้องโควิด

ด้านนายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพลาซา เซ็นทรัลเฟสติวัล เซ็นทรัลภูเก็ต และเซ็นทรัลวิลเลจ กล่าวว่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลมีความพร้อมอย่างเต็มที่ทั้งมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการมาใช้บริการภายในศูนย์การค้า

 

ทั้งนี้มีผู้ประกอบการร้านอาหารที่ตอบรับพร้อมกลับมาให้บริการแล้วกว่า 700 ร้านค้า โดยศูนย์เตรียมอำนวยความสะดวก และแผนโปรโมทเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านบริการ Central Connect ช้อป แชต สั่งสะดวกได้ทุกที่ ทุกไลฟ์สไตล์ ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งบริการ CENTRAL EATS ผ่าน GrabFood

 

บริการ Food Concierge Service สั่งอาหารกลับบ้านส่งตรงจากร้านดังในศูนย์การค้าเซ็นทรัล 8 สาขา, CALL ผู้ช่วยเบอร์เดียว เชื่อมต่อทุกบริการ โทร: 02-021-9999 หรือ Add LINE @CentralLife และ CLICK-เพิ่มเพื่อนกับ Line @centralLife เพื่อรับโปรโมชั่นพิเศษและข่าวสารต่างๆ

 

ขณะที่นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การทำดีลิเวอรีไม่เหมือนการเข้าไปนั่งทานในร้านอาหารที่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก ดังนั้นมองว่าน่าจะสามารถผ่อนผันให้ทำดีลิเวอรีได้ การคลายล็อกให้ร้านอาหารในห้างถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ร้านอาหารกลับมามีรายได้

 

ทั้งนี้เซ็น กรุ๊ป พร้อมกลับมาเปิดร้านอาหารให้บริการดีลิเวอรี โดยคัดเลือกเปิดเฉพาะบางสาขาจากจำนวนทั้งหมด 70 สาขาในห้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ใน 3 แบรนด์ คือ ZEN, AKA และ On the Table อย่างไรก็ดีในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ร้านอาหารในศูนย์ ร้านอาหารในเครือ ZEN มีการปรับตัวโดยหันไปเช่าครัวที่อยู่นอกศูนย์ไปเพื่อทำ คลาวด์ คิทเช่น ในทำเลใหม่ๆเช่น สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น

รีเทิร์นเปิดบริการ ห้าง-ร้านอาหาร ชูมาตรการเข้มป้องโควิด

“ร้านอาหารในศูนย์เกือบทั้งหมดวิ่งออกมาหาพื้นที่เช่าชั่วคราว เพราะในห้างทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จนถึงสิ้นเดือนจะเห็นว่าเชนร้านอาหารในศูนย์ หันไปทำนอกศูนย์เพิ่มมากขึ้น และถ้ามีการคลายล็อกดาวน์ให้ทำดีลิเวอรีในห้างได้

 

หลายแบรนด์อาจเลือกเปิดดีลิเวอรีเฉพาะศูนย์ที่สามารถทำได้ง่ายควบคู่ไปกับการเปิดคลาวด์ คิทเช่น นอกห้าง เพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป เพราะโมเดลการทำดีลิเวอรีในศูนย์มีข้อจำกัดหลายอย่างส่วนหนึ่งก็คือต้นทุนของค่าเช่าที่เกิดขึ้น และไม่มองถึงกำไรเป็นการรักษาสภาพคล่องให้พนักงานมีงานทำเท่านั้น”

 

เช่นเดียวกับฟู้ดแพชชั่น อีกกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีสาขาอยู่ในศูนย์การค้าถึง 150 สาขา ทั้งร้านปิ้งย่างบาร์บีคิว พลาซ่า, จุ่มแซ่บ ฮัท ฯลฯ โดยนางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า แม้ศบค. จะคลายล็อกให้ร้านอาหารในห้างกลับมาเปิดได้ บริษัทจะยังไม่ยกเลิกในการหาพื้นที่ด้านนอกศูนย์เพิ่มเติมจากจุดเดิมที่เปิดเฉพาะในศูนย์

 

“ในเครือฟู้ดแพชชั่นมีร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบเกือบ 100 สาขาส่วนใหญ่เป็นบาร์บีคิว พลาซ่าเพราะมีสาขาในกรุงเทพฯ ราว 70-80% ของสาขาทั้งหมด ทันทีที่ถูกสั่งปิดพื้นที่ในศูนย์ เราปรับตัวค่อนข้างเร็วมากในช่วง 7 วัน สามารถกระจายจุดครัวชั่วคราวและจุดกระจายสินค้าชั่วคราวได้ 25 จุดแต่ก็ยังไม่ครอบคลุม แต่ยังสามารถสร้างยอดขายได้”

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,701 วันที่ 1 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564