ค้าปลีก วอนนายกตู่ ต่อลมหายใจ SME  2 แสนราย หวั่นคนตกงาน 1.5 ล้านคน

23 ก.ค. 2564 | 18:21 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2564 | 01:34 น.

สมาคมค้าปลีกฯ ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯประยุทธ์ วอนต่อลมหายใจ SME กว่า 2 แสนราย หวั่นล็อกดาวน์ส่งผลกระทบหนักคนตกงานกว่า 1-1.5 ล้านคน พร้อมเสนอ 4 มาตรการช่วยเหลือด่วน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่โคม่าอยู่ในขณะนี้ ทำให้รัฐบาลต้องยกระดับมาตรการป้องกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัดส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถเปิดดำเนินการได้

 

ล่าสุดสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องขอเสนอมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้ความช่วยเหลือกับ SME ในภาคค้าปลีกและบริการ

 

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง ขอเสนอมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้ความช่วยเหลือกับ SME ในภาคค้าปลีกและบริการอย่างเร่งด่วน

 

ซึ่งในขณะนี้ มีผู้ประกอบการ SME ในระบบกว่า 200,000 ราย ที่กำลังจะต้องปิดตัวลง และมีลูกจ้าง 1,000,000 - 1,500,000 ราย ที่จะต้องขาดรายได้และไม่มีงานทำ ทั้งยังส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินอย่างหนัก เพราะจะก่อให้เกิดหนี้เสียหลายแสนล้านบาท                

ญนน์ โภคทรัพย์

“การแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ในขณะที่การฉีดและกระจายวัคซีนยังไม่เป็นไปตามเป้า ยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลควรเร่งเยียวยากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน”

 

โดยสมาคมฯ ขอนำเสนอ 4 มาตรการ ดังนี้ 

 

1. มาตรการสาธารณสุข

 

1.1 เร่งจัดหาและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง โดยใช้พื้นที่จุดฉีดวัคซีนที่ภาคค้าปลีกและบริการได้เตรียมไว้ทั้งหมด 93 จุด แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 25 จุดและในต่างจังหวัดอีก 68 จุด ทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเพิ่มบริการตรวจ Rapid Antigen Test ให้กับประชาชน

   

1.2 จัดสรรวัคซีนให้กับบุคลากรในภาคค้าปลีกและบริการ โดยเฉพาะศูนย์กระจายสินค้าของกลุ่มการค้าปลีกและบริการ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้า   

ค้าปลีก วอนนายกตู่ ต่อลมหายใจ SME  2 แสนราย หวั่นคนตกงาน 1.5 ล้านคน

2. มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SME และประชาชน  

 

2.1 เร่งสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ Soft Loan ให้ SME เร็วขึ้น เพราะในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มี SME ที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย 

 

2.2 สำหรับ SME ที่เป็นลูกหนี้กับสถาบันการเงินในปัจจุบัน ขอให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

 

2.3 ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มเป็น 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน

 

2.4 ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีการจ้างงานเพิ่ม ขอผ่อนผันให้เป็นการจ้างงานแบบรายชั่วโมงเป็นการชั่วคราว เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และลดอัตราการว่างงาน

 

2.5 เพื่อเป็นการเพิ่มให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ขอให้ปรับเพิ่มรายได้พึงประเมินบุคคลธรรมดาขั้นต่ำที่จะเสียภาษีจาก 150,001 บาท เป็น 250,001 บาท ในปี 2564-2565 

 

2.6 ผ่อนผันให้ร้านอาหารในศูนย์การค้าสามารถให้บริการ Delivery ได้ เพื่อช่วยเหลือ SME ให้สามารถพยุงธุรกิจได้ และลูกจ้างยังมีงานทำต่อไป         

 

3. มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

 

3.1 นำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง

 

3.2 ขอให้ภาคเอกชนไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลและ BOI เช่นเดียวกับการที่ นักลงทุนต่างชาติได้รับ เนื่องจากภาคเอกชนที่มีธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความแข็งแรง สามารถลงทุนเพิ่ม แต่อาจขาดความมั่นใจและแรงกระตุ้น พร้อมยังช่วยทำให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง

ค้าปลีก วอนนายกตู่ ต่อลมหายใจ SME  2 แสนราย หวั่นคนตกงาน 1.5 ล้านคน

4. มาตรการรองรับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy)

 

4.1 กำหนดนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อควบคุมบางธุรกิจ ห้ามนักลงทุนต่างชาติทำโดยเด็ดขาด และบางธุรกิจสามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไข เพื่อปกป้องอาชีพและธุรกิจของคนไทย โดยไม่ทำลายอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยในที่สุด    

 

4.2 ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม จัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตั้งแต่บาทแรก และห้ามขายต่ำกว่าราคาต้นทุน

 

4.3 เร่งผลักดันการทำ Digitalization ของหน่วยงานภาครัฐสำหรับใบอนุญาตต่างๆ ให้เป็นแบบ E-Form, E-License, E-TAX  และ E-Invoice  และลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตเหลือเพียง 1 ใบ (Super License)  จากเดิมที่ผู้ประกอบการค้าปลีกหรือค้าส่งต้องขอใบอนุญาตต่างๆ กว่า 43 ใบ  

 

4.4 ปรับรูปแบบการบริการของหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการแก่ประชาชน เป็นแบบ Cashless Payment  (การทำธุรกรรมทางการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อช่วยลดกระดาษ ลดเอกสาร ลดขั้นตอน ลดเวลา และสามารถตรวจสอบเอกสารย้อนหลังได้จากระบบ

 

“ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสงครามเชื้อโรคที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง   และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราอยู่ในช่วงวิกฤตซ้อนวิกฤต ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

 

เพื่อก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปให้ได้  โดยสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับรัฐบาลในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง”