เปิดมุมคิด "บิ๊กไอที" ขับเคลื่อนองค์กรสู่ผู้นำธุรกิจ

27 มิ.ย. 2564 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 23:48 น.
517

ท่ามกลางกระแส “ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น” ที่ซึมลึกเข้าไปในกระบวนการทำงานขององค์กรต่างๆ รวมถึงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด -19 หลายคนอาจมองว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลเทคโนโลยี น่าจะเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องปรับตัวมาก เพราะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

แถมยังได้เปรียบด้วยซ้ำเพราะโควิด -19 ทำให้ดิจิทัลเทคโนโลยี กลายเป็นฮีโร่ ที่ช่วยแก้วิกฤติการทำงานในยุคนี้เสียด้วยซ้ำ หากแต่ในความเป็นจริง ทุกคนต้องปรับตัวส่วนจะปรับอย่างไร 3 ผู้บริหารองค์กรไอทีระดับประเทศมีคำตอบ

  • เข้าใจบทบาท-แชร์ข้อมูล  

ในมุมการบริหารของ “เดชพล เอื้อทวีกุล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เน็กซ์เทค เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการติดตั้งระบบไอซีทีและโทรคมนาคมชั้นนำมองว่า ทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือพนักงาน ต้อง“ปรับตัวให้เร็ว มีความรอบรู้ และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เสมอ” พร้อมกับนำโนว์ฮาวด์และเทคโนโลยีที่มีอยู่มาช่วยขับเคลื่อนและเสริมประสิทธิภาพการทำงาน โดยต้องมีการสื่อสารและติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง 
“เดชพล เอื้อทวีกุล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เน็กซ์เทค เอเชีย จำกัด  

ในฐานะผู้บริหาร ที่มีบทบาทควบคุมนโยบาย ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน การใช้บรรทัดฐานเก่าๆ มาตัดสินการทำงานในยุคนี้ ไม่ได้เกิดผลดี และอาจทำให้งานถอยหลัง สิ่งสำคัญ คือ “ผู้นำต้องมีมายเซ็ตที่ดี ให้เกียรติผู้ร่วมงานเอากำแพงออกให้หมด ผมมองพนักงานเป็นครอบครัว ลูกค้าคือญาติ พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา ร่วมกันแก้ปัญหา และฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน”

ยิ่งมีวิกฤติยิ่งต้องทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ขยันมากขึ้น จากข้อจำกัดที่ไม่อาจเผชิญหน้ากันได้ ทุกฝ่ายจึงต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างชัดเจน และมีการ“แชร์ข้อมูล” ร่วมกัน เพื่อให้งานต่างๆ สามารถเดินหน้าไปได้โดยไม่สะดุด พร้อมทั้งต้องเตรียมแผนสำรองที่ต้องมีมากกว่า 1 แผน  

แน่นอนว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวดิจิทัลเทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้มีความต้องการในตลาดมากขึ้น ในปีนี้การลงทุนด้านไอทีในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่า 20% โดยองค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจปรับมาใช้เทคโนโลยีคลาวด์มากขึ้นมีการยกระดับไอทีอินฟราสตรักเจอร์ เพื่อพัฒนาระบบการทำงานการบริหารจัดการ รองรับโมเดลการให้บริการใหม่ๆ

“เดชพล” บอกว่า เป้าหมายของเน็กซ์เทค เอเชีย ต้องการเติบโตมากกว่า 10% ในแต่ละปี นอกจากการพัฒนาธุรกิจการตลาดให้สนองตอบความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุดแล้ว มาตรฐานการทำงาน การจริงใจต่อลูกค้า คือตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้บริษัทไปสู่เป้าหมาย

 

ติด “สปีด”เคลื่อนไหวคล่องตัว

ในมุมมองของ “ทวีวัฒน์ จันทรเสโน” กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์(ประเทศไทย) จํากัด “บุคลากร” คือฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้องค์กรเดินหน้าได้ตามเป้าหมายการเลือกคนที่เหมาะสมกับงาน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันแผนงานหรือกลยุทธ์ต้องมีความยืดหยุ่น คล่องตัว (Agility) พร้อมปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกมิติ

อีกหนึ่งกุญแจสำคัญ คือการเข้าใจตัวเอง รู้จุดเด่น จุดแข็ง เพื่อนำมาใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ทำให้บริษัทสามารถยืนหยัดได้ในทุกสถานการณ์ ในฐานะองค์กรด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซิสโก้จึงมีการปรับกลยุทธ์ทุกปี เพื่อสปีดให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้น คนทำงานก็ต้องมีความพร้อมและคล่องตัวตลอดเวลา อย่างช่วงแรกของวิกฤติโควิด-19 ซิสโก้ได้รับผลกระทบเช่นกัน องค์กรต่างๆ ชะลอการใช้งบ ทำให้ยอดรายได้ของซิสโก้หดตัวไปด้วย แต่บริษัทก็สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์กลับมาเติบโตได้แบบก้าวกระโดด ด้วยปัจจัยที่สำคัญคือ การนำเสนอโซลูชั่นที่ครอบคลุมทั้งด้านเน็ตเวิร์ค คลาวด์ซิเคียวริตี้ ระบบอัตโนมัติ และการทำงานร่วมกัน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรต่างๆ

“ทวีวัฒน์ จันทรเสโน” กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์(ประเทศไทย) จํากัด

สำหรับ “ทวีวัฒน์” มองว่าเทรนด์ของธุรกิจเวลานี้ หนีไม่พ้นเรื่องของคลาวด์ และการพัฒนาสมาร์ทออฟฟิศ ที่ต้องมีพร้อมด้วยดิจิทัลโซลูชั่น เทคโนโลยี 5G ความปลอดภัย และเครือข่ายยุคใหม่ที่รองรับนิวนอร์มอล ที่ผ่านมาซิสโก้จึงพัฒนาและเปิดตัวโซลูชั่นใหม่ๆออกมาต่อเนื่อง อาทิ Cisco UCS® X-Series ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือธงปีนี้ของธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ซิสโก้ จากทั้งหมด 4 หน่วยธุรกิจที่ซิสโก้มีคือธุรกิจเครือข่าย (networking) ความปลอดภัย (security) ดาต้าเซ็นเตอร์ (data center) และโซลูชันเพื่อการทำงานร่วมกัน (Collaboration)

สร้างแพลตฟอร์มเพื่อคนไทย

ในธุรกิจ SI หรือ System Integrator ผู้ให้บริการโซลูชั่นการออกแบบติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์บริการด้านระบบเครือข่าย บริการซ่อมบำรุง แม้จะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสทางการตลาดอย่างมาก ในภาวะวิกฤติครั้งนี้ รวมไปถึง Digital Disruption ที่หลายๆองค์กรพยายามพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเอง“ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัทสกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY บอกว่า วิกฤติครั้งนี้ได้สร้างความท้าทายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากโจทย์ที่ต้องทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัล สร้างความต่อเนื่องในการปรับใช้เทคโนโลยี พร้อมๆ กับการบริหารจัดการต้นทุนให้ดี บริษัทยังต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ทั้งในมุมของการปฏิบัติงาน การใช้ชีวิต และการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า

SKY เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คน” ควบคู่กับการมี วัฒนธรรมองค์กรแบบ “Tech Company” ที่ใช้การสื่อสารเป็นสะพานเชื่อมต่อให้งานต่างๆ เดินหน้า

“ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด SKY

“ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด SKY อธิบายว่า วัฒนธรรมองค์กรแบบ Tech Company มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการนำพาองค์กรให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติ การทำงานของ SKY ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ ด้วยความพร้อมของดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับการทำงาน ทำให้องค์กรสามารถทำงานออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์

ในขณะเดียวกัน ก็นำเรื่องของ “OKR (Objectives and Key Results)” หรือ วิธีการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จ มาเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อน “คน” ที่มีการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยไม่ยึดติดกับลำดับขั้นอาวุโส ให้อำนาจตัดสินใจกับพนักงาน ทุกคนสามารถพูดคุยสื่อสาร แบ่งปันข้อมูล และเสนอความคิดเห็นร่วมกันได้ตลอด 24 ชม. โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ การสร้างแพลตฟอร์มที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี 

“ขยล” ยอมรับว่า ธุรกิจ SI เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง ขณะที่การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีก็รวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น SKY จึงต้องปรับตัวตลอดเวลา ควบคู่กับการปูฐานองค์กรให้มั่นคง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น SKY จึงปรับบทบาทของตัวเอง จากผู้วางระบบ ไปสู่ผู้พัฒนาระบบ สร้างสิ่งที่ไม่เพียงแค่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า แต่ต้องทำให้เหนือความคาดหมายที่ลูกค้าต้องการ

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มขยายตลาด ปรับกลยุทธ์โฟกัสที่ลูกค้าเอกชนมากขึ้น ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นใหม่ๆ ที่เป็น Smart 
Security Platform
มุ่งพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จะเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการให้บริการ โดยวางเป็น “New S-curve” ที่จะมาพลิกโฉมธุรกิจและสร้างการเติบโตใหม่ๆ ต่อไปได้อย่างน่าอัศจรรย์อย่างไร ต้องลองติดตามงานเขามียาวๆ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 16 ฉบับที่ 3,690 วันที่ 24 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564