ร้องทบทวนนำเข้าธัญพืชนอกทุบราคาข้าวโพดในประเทศราคาตก

26 มิ.ย. 2564 | 14:50 น.
1.2 k

​​​​​​​นายกสมาคมค้าพืชไร่ ร่อนหนังสือถึง “จุรินทร์” เรียกร้อง ทบทวนนำเข้าธัญพืชนอกทะลัก ไม่เป็นธรรม ทุบราคาข้าวโพดในประเทศเดี้ยงโอเวอร์ซัพพลาย โรงงานชิ่งหยุดรับซื้อ ขอบรรจุวาระเร่งด่วน

นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่   เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสมาคมได้ส่งหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เรื่อง ขอให้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์แบบเป็นธรรมและยั่งยืน จากสถานการณ์ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จากเดิมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศและกากถั่วเหลืองจากการนำเข้า เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศไทย และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 กระทรวงการคลัง ได้ปรับแก้ไขภาษีนำเข้าข้าวสาลี จาก 27 % ลดลงเหลือ 0 (ศูนย์) % โดยได้อนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีมาเป็นวัตถุดิบทดแทนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ และมีปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆปีอย่างมีนัยสำคัญ

 

พรเทพ ปู่ประสริฐ

 

ในปี 2563 มีปริมาณการนำเข้าข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ กากข้าวโพด (DDGS) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมกันมากกว่า ถึง 4.066 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 32,772 ล้านบาท) นับตั้งแต่ปีจนในปี พ.ศ. 2559 นอกจากผลกระทบจากการเสียดุลการค้าของประเทศไทย ยังส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดประสบกับสภาวะขาดทุนและก่อให้เกิดหนี้สะสมอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากต้นทุนในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ปรับตัวสูงขึ้น

 

จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลให้ปุ๋ย เมล็ดพันธ์ ย่าฆ่าแมลงและวัชพืช น้ำมัน ได้ปรับฐานราคาสูงขึ้นตามค่าแรงดังกล่าว ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย จนเกิดการเรียกร้องจากเกษตรกร ทำให้รัฐบาลออกนโยบายปกป้องผู้ปลูกข้าวโพดฯ โดยใช้มาตรการ 3:1 (ใช้ข้าวโพดที่ผลิตในราชอาณาจักรไทย 3 ส่วน เพื่อแลกการนำเข้าข้าวสาลีอาหารสัตว์ได้ 1 ส่วน) และส่งผลให้เสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยดีขึ้น และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง

 

ต่อมา โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2563 และ 6 เดือนแรกของปี 2564 กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้มีการนำวัตถุดิบทดแทนอื่นๆคือกากข้าวโพดฯ (DDGS) จากอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล และข้าวบาร์เลย์มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ DDGS ในปี 2563 และ 6 เดือนแรกของปี 2564 มีปริมาณสูงถึง 0.630 และ 0.110 ล้านตัน และ ข้าวบาร์เลย์ ปี 2563 มีปริมาณการนำเข้าถึง 0.794 ล้านตัน และสูงถึง 0.672 ล้านตัน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564) เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการ 3:1 ที่ครอบคลุมเฉพาะข้าวสาลี การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศยังรวมถึงการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านแบบปลอดภาษีอากรนำเข้าปี 2563 และ ก.พ.-พ.ค. 64 มีปริมาณมากกว่า 1.59 และ 1.3 ล้านตันตามลำดับ ส่งผลให้ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยเกินความต้องการของตลาด

 

เป็นที่สังเกตได้จากราคารับซื้อหน้าโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและจำกัดปริมาณการรับซื้อต่อวัน และบางโรงงานหยุดการรับซื้อเป็นช่วง ๆ ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่กล่าวอ้างว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดฯ ที่ผลิตในประเทศไทยไม่ เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์ ดังสถานการณ์ในเดือน พฤษภาคม 2564 ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลาดโลกสูงถึง 9.37 บาท/กิโลกรัม รวมถึงราคาข้าวโพดในประเทศกัมพูชาและเวียดนามสูงกว่าราคาหน้าโรงงานในประเทศไทย แต่ในทางตรงกันข้าม ราคาในประเทศไทยยังคงต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกันรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกฯ ที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม

 

ทำให้ภาครัฐต้องเสียเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนเพื่อจ่ายเงินประกันรายได้ ทั้งที่เกษตรกรที่ปลูกหลังนาได้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นอกฤดูควรจะขายได้ในราคาสูงกว่าในฤดู การกำหนดราคารับซื้อไม่ได้อยู่ในระบบกลไกการตลาดที่เป็นธรรม ผู้ผลิตอาหารสัตว์เป็นผู้กำหนดราคาซื้อวัตถุดิบเพียงฝ่ายเดียว และยังคงได้อานิสงค์จากการชดเชยจากภาครัฐผ่านโครงการประกันรายได้เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตอีกต่อหนึ่ง

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบไทยและประชาชนผู้เสียภาษีอากรต้องรับภาระจากนโนบายด้านวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ต่อการแข่งขันภาคเนื้อสัตว์ส่งออกของไทยอย่างไม่สมดุล ประหนึ่งว่าเป็นประกันรายจ่ายให้กับผู้ซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย การที่นำเข้าข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ และกากข้าวโพด DDGS มาเป็นวัตถุดิบทดแทน แต่กลับไม่ได้สร้างประโยชน์หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรในประเทศไทยเลย ทั้งที่ในแต่ละปีมีวัตถุดิบคารโบไฮเดรตที่ผลิตภายในประเทศจำนวนมหาศาล

 

เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ในปริมาณจนสามารถส่งออกได้ เพื่อที่จะได้ดูดซับ Supply ออกจากระบบ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางราคา กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า สร้างการกระจายรายได้และสร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากกว่าการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน และยังช่วยภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณไปกับโครงการประกันรายได้และการชดเชยต่างๆในแต่ละปีทุกวันนี้ บริษัทขนาดใหญ่ในห่วงซ่อาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ระดับชั้นนำของประเทศ สร้างผลกำไรเติบโตต่อเนื่องในรอบ5 ปี แต่เกษตรกรผู้ปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีมากกว่า 4 ล้านคน คนยังคงติดอยู่กับดักความจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เนื่องจากความไม่ธรรมในการแข่งขันจากกฎเกณฑ์และกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

หากข้าวโพดไทยจะแข่งขันกับตลาดโลกได้ต้องมีต้นทุนผลผลิตต่อกิโลกรัมที่ต่ำ แต่เนื่องจากข้อจำกัดของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยที่เป็นสายพันธ์ลูกผสม (Hybrid) จึงไม่สามารถเทียบหรือแข่งขันได้กับวัตถุดิบทดแทนอื่นที่นำเข้าจากต่างประเทศๆ เนื่องจากเป็นพืช GMO แต่ด้วยข้อจำกัดของประเทศไทยที่ห้ามใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด GMO และการห้ามใช้ปัจจัยการผลิตที่ราคาถูก (เช่นห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าพาราควอต) ทำให้ผู้ปลูกข้าวโพดฯ มีภาระต้นทุนการผลิตและต้นทุนผลผลิตต่อกิโลกรัมที่สูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่สามารถที่จะแข่งขันกับธัญพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์อากรนำเข้าต่ำ ที่เป็นธัญพืช GMO และอาจปนเปื้อนสารพาราควอตได้

 

จากสถานการณ์ของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่าปีฤดูกาลที่จะถึงนี้มีการเพาะปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านตัน รวมกับในปี พ.ศ. 2564 มีการนำเข้า ข้าวบาเลย์ ตั้งแต่เดือน ม.ค. -พ.ค. มากกว่า 0.672 ล้านตันและข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่เดือน ก.พ. - พ.ค. มีการนำเข้าข้าวโพดมากกว่า 1.3 ล้านตัน และมีเกษตรกรที่ถูกเลิกจ้างจากภาคอุตสาหกรรมกลับมา จึงทำให้มีพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้นสมาคมการค้าพืชไร่ จึงขอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ ) พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ยังคงค้างคามาหลายปี อย่างรอบคอบดังต่อไปนี้

 

1. ขอผลการตรวจสอบปริมาณการนำเข้าข้าวสาลีกับปริมาณการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศของคณะทำงานที่ได้แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ตามระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้นำข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักร)

 

2. ขอให้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ กากข้าวโพด)ภายในและภายนอกประเทศอย่างเป็นระบบ 3. ขอให้พิจารณาแนวทางการกำหนดกรอบภาษีอากรนำเข้า (Import Tax) กลับมาใช้ เพื่อสร้างสมดุลและความเป็นธรรมในการแข่งขันของภาคการเกษตร และลดการสิ้นเปลืองงบประมาณในการชดเชยโครงการประกันรายได้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

4. ขอให้พิจารณาแนวทางการใช้วัตถุดิบในประเทศที่มีปริมาณเกินความต้องการเป็นลำดับแรก เช่น ข้าว ปลายข้าว มันสำปะหลัง 5. การกำหนดยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องให้น้ำหนักกับภาคเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นเป็นหลักเพื่อทำให้เกษตรกรฯ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอให้บรรจุเข้าเป็นวาระในการประชุม นบขพ. ครั้งที่ 3/2564 ต่อไป