นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายปีร์กะ ตาปิโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ว่า ไทยและอียูเห็นตรงกันที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู โดยขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกรอบการเจรจา ซึ่งระดับเจ้าหน้ากำลังเร่งหารือทำเอกสารความคาดหวังร่วมกัน เพื่อใช้เป็นต้นร่างในการนำไปสู่การขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ทั้งในส่วนของไทย และรัฐบาลของอียู เพื่อเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป
ทั้งนี้การทำ FTA ไทย-อียู เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ และเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้มีการรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว และการหารือครั้งนี้ อียูคาดหวังว่า ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียนที่ทำ FTA กับอียู โดย 2 ประเทศแรก คือ เวียดนามกับสิงคโปร์ ถ้ามีการทำ FTA ไทยกับอียูเกิดขึ้นจริง และมีผลบังคับใช้ ไทยจะได้รับประโยชน์เรื่องการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะการค้าไทยกับอียุถือว่าสูงมาก คิดเป็น 8% ของการค้าไทยกับโลก
“การหารือครั้งนี้ ไทยและอียูยังมีความเห็นร่วมกันในการใช้องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าในระบบพหุภาคี และจะต้องเร่งเรื่องการปฏิรูป WTO ให้มีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ เพื่อมาพิจารณาข้อพิพาทให้ได้โดยเร็ว เร่งสรุปการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง รวมทั้งเห็นร่วมกันในการส่งเสริมการค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมถึงยังได้หารือเรื่องวัคซีน โดยเห็นตรงกันเรื่องให้มีการใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตร (CL) วัคซีนเกิดขึ้นเพื่อให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ โดยจะดำเนินการเจรจาใน WTO ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่รัฐมนตรี WTO ในวันที่ 30 พ.ย.2564 เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจนก่อน”
ขณะเดียวกัน ได้ขอให้ท่านทูต เชิญภาคเอกชนของอียูเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทยในช่วงเดือนก.ค.-ธ.ค.2564 โดยจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching – OBM) ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เช่น สเปน เดนมาร์ก อิตาลี เช็ก เป็นต้น โดยไทยจะจัดงานแสดงสินค้าหลายกลุ่ม เช่น อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เอกสารความคาดหวังที่จะนำไปสู่การเจรจาทำ FTA จะครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายสนใจ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นก่อนการเจรจาจริงว่าใครสนใจในเรื่องอะไรบ้าง ถือเป็นความคาดหวังที่จะให้มีในการเจรจาทำ FTA แต่เมื่อถึงเวลาจริง ก็ต้องเจรจากันอีก โดยในส่วนของไทย จะต้องเสนอ ครม. เพื่อเห็นชอบก่อนการเจรจา ทางอียู ก็เช่นเดียวกัน และตั้งใจว่าภายในปีนี้ รัฐบาลจะให้ความเห็นชอบทั้ง 2 ฝ่าย และเริ่มต้นการเจรจาได้ปีหน้า
อียู (27 ประเทศ) เป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยรองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในปี 2563 มีมูลค่าการค้า 33,133.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,032,700 ล้านบาท คิดเป็น 7.56% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู 17,637.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 545,900 ล้านบาท และนำเข้าจากอียู 15,496.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 486,800 ล้านบาท และในช่วง 4 เดือนของปี 2564 (ม.ค.–เม.ย.) การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 12,879.86 ล้านดอลลาร์หรัฐ หรือ 388,300 ล้านบาท เพิ่ม 10.95% โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 77,291.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 218,400 ล้านบาท เพิ่ม 17.98% และนำเข้าจากอียูมูลค่า 5,588.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 169,800 ล้านบาท เพิ่ม 2.94% สินค้าส่งออกหลักของไทยไปอียู คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา ไก่แปรรูป และข้าว และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พาณิชย์”ย้ำ FTA ไทย – อียู ดันส่งออกไทยเพิ่ม2แสนลบ.ต่อปี