“ธุรกิจปศุสัตว์สัตว์ไทย” จุดอ่อน ณ ปัจจุบัน สู่ความท้าทายในอนาคต

13 มิ.ย. 2564 | 15:38 น.
2.5 k

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เขียนบทความเรื่อง “ดูนางให้ดูแม่ ดูให้แน่ต้องดูทั้งห่วงโซ่” ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมจุดอ่อน และข้อเท็จจริงธุรกิจปศุสัตว์ไทย ณ ปัจจุบัน สู่ความท้าทายในอนาคต

บริษัทผลิตรถยนต์ย่อมไม่สามารถผลิตทุกชิ้นส่วนของรถได้เองจึงต้องเตรียมคำตอบว่าถ้าต้องการจะเป็นผู้ “ชนะ”ในเกมนั้น ต้องทำอย่างไร?

คำตอบ คือ “ต้องพัฒนาศักยภาพการผลิตของทุก “ข้อต่อ” ของห่วงโซ่เพื่อตอบสนองตลาดในอนาคตในสามส่วน คือ 1) ให้ได้ประสิทธิภาพการแข่งขันของต้นทุน 2) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 3) ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบคือ ธุรกิจปศุสัตว์ ที่จะต้องพัฒนาทุกข้อต่อของห่วงโซ่เช่นกัน โดยเริ่มตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ของพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์  ผลิตผลวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว ที่จะต้องมีต้นทุนการผลิตที่เท่าเทียมหรือต่ำกว่าคู่แข่งและต่อเนื่องไปถึงกระบวนการผลิตแต่ละขั้น จนถึงตัวผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หรืออาหารที่วางจำหน่ายในประเทศและส่งออก (ดังภาพที่ 1)

ห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย

การบริหารห่วงโซ่การผลิตที่เป็นแนวตั้งนี้ยังต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยการผลิตหรือธุรกิจอื่นที่มีส่วนในการเพิ่มหรือลดทอนศักยภาพอีกชุดหนึ่ง เช่น การเงิน การขนส่ง เทคโนโลยี กฎระเบียบหรือกฎหมายของรัฐ องค์กรรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ เป็นต้น (ดังภาพที่ 2)

การบริหารห่วงโซ่การผลิต

จากแนวคิดการบริหารห่วงโซ่การผลิตข้างต้น เราพบว่าข้อต่อของห่วงโซ่การผลิตสินค้าปศุสัตว์ไทยมีจุดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือวัตถุดิบอาหารสัตว์  ซึ่งเป็นส่วนที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของทั้งห่วงโซ่ใน 3 มิติสำคัญ กล่าวคือ การจัดหาวัตถุดิบจะต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย(feed safety) และราคาที่แข่งขันได้ ที่สำคัญที่สุดคือต้องหาแหล่งผลิตที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและตัดไม้ทำลายป่า รวมถึง ดูแล ปกป้องแรงงานด้วย

ในมิติต้นทุนอาหารสัตว์ จะเห็นว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นปัญหามากคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยที่ยังไม่สามารถลดต้นทุนโดยเปรียบเทียบกับราคาตลาดโลกได้ (ดังภาพที่ 3) ดังนั้นจึงเป็นภาระของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะพัฒนาต่อไป  ซึ่ง ณ วันนี้มาตรการของรัฐที่ดำเนินการอยู่คือ ให้การอุดหนุนเกษตรกรโดยการประกันรายได้เป็นเงินต่อกิโลกรัมที่ 8.50 บาท(1)

ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

1. ขณะนี้รัฐบาลประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคา 8.5 บาท/กก. แต่ขณะเดียวกันรัฐก็ได้มีมาตรการ “ขอ” ให้โรงงานอาหารสัตว์ช่วยซื้อในราคาขั้นต่ำที่ 8 บาท/กก. เพื่อเป็นการประกันในชั้นแรกก่อน (แต่มิได้ใช้นโยบายนี้กับพืชตัวอื่น) ดังนั้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงถือว่ามีการอุดหนุนสองชั้น

นอกจากปัญหาต้นทุนดังกล่าวอุปสงค์ข้าวโพด 8 ล้านตันต่อปี (โดยประมาณ) แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตันต่อปี (โดยประมาณ) เรามีช่องทางที่จะนำเข้าได้จากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ถูกจำกัดด้วยระเบียบกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดช่วงเวลาการนำเข้าผู้ประกอบการจึงต้องหันไปนำเข้าสินค้าทดแทนอื่นจากประเทศทางตะวันตกแต่ก็ถูกประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ต้องมีโควตารับซื้อข้าวโพดไทยก่อนในอัตรา 3:1 ดังนั้นตัวเลขที่จะนำเข้าได้จึงมีเพียง 2 ล้านตันเท่านั้นซึ่งรวมกับข้าวโพด 5 ล้านตันแล้วก็ยังไม่เพียงพอกันจำนวนรวมที่ต้องการคือ 8 ล้านตัน

เพื่อทดแทนการนำเข้าข้าวโพดและผลิตผลเกษตรอื่นสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ในการพัฒนาเพิ่มจำนวนข้าวโพดโดยการส่งเสริมเกษตรกรชาวนาให้ปลูกข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และลดการปลูกข้าวนาปรังการส่งเสริมยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย 3 ล้านตัน (ดังภาพที่ 4)

ปริมาณพื้นที่และผลผลิตข้าวโพดหลังนา

มิติกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบต้นน้ำ สมาคมฯ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) และกระทรวงอุดมศึกษาฯ (สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) เพื่อหาแนวทางในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นปลูกข้าวโพดบนที่ราบสูงภายใต้โครงการ BCG (ดังภาพที่ 5)

โครงการสนับสนุนการผลิตข้าวโพดที่ยั่งยืน

มิติด้านปกป้องสิทธิมนุษยชน แม้โรงงานผลิตอาหารสัตว์จะไม่มีปัญหานี้เพราะการจ้างแรงงานมีจำนวนน้อยแต่ก็ต้องช่วยกันพัฒนาร่วมกับผู้ผลิตปลายห่วงโซ่ที่จ้างแรงงานจำนวนมาก

เขียนมาถึงตรงนี้ท่านก็จะได้ภาพถึงความสำคัญของศักยภาพการแข่งขันว่าจะต้องเกิดขึ้นทุกข้อต่อของห่วงโซ่การผลิตเพราะผู้ที่จะเป็นคนตัดสินยืนอยู่ในประเทศนำเข้าซึ่งเป็นข้อต่อสุดท้ายที่กำหนดข้อบังคับการนำเข้า ภารกิจในการพัฒนาศักยภาพของแต่ละข้อต่อนั้นแม้จะต้องแยกกันทำในทางปฏิบัติแต่ก็ต้องตอบโจทย์เดียวกันในที่สุด แต่เนื่องจากความสามารถและฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน

ผมจึงเสนอให้แต่ละพื้นที่ที่ผู้ประกอบการของข้อต่อปศุสัตว์ทำความเข้าใจให้ตรงกันถึงภารกิจของแต่ละข้อต่อก่อนเป็นเบื้องต้น หลังจากนั้นก็เขียนโครงการพัฒนาซึ่งจะมีรายละเอียดเรื่องการเงิน เทคโนโลยี กฎระเบียบ ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไปภายใต้วาระแห่งชาติที่ต้องการเน้น 3 เรื่องคือ 1) เพิ่มค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ (Bioeconomy) 2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ 3) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

โดยสรุป มันหมดเวลาแล้วสำหรับแนวคิดเดิม ๆ ที่ต่างคนต่างเอาเปรียบกันและกันซึ่งเป็นผลให้ผู้ที่อ่อนแอที่สุดในข้อต่อฯเสียเปรียบมากที่สุด แต่ในโลกการแข่งขันภายใต้โจทย์ใหม่นี้เราต้องเขียนคู่มือการผลิตใหม่เพราะโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากไปกว่าราคาและจะเริ่มตั้งคำถามว่า “สินค้านี้ผลิตอย่างไร แทนที่จะถามว่า ราคาเท่าไหร่”?

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ขอเรียนว่าที่เราสามารถวางหมุดสินค้าปศุสัตว์ในตลาดโลกได้อย่างสง่างามนั้นต้องยกเครดิตให้กรมปศุสัตว์ที่ช่วยเหลือและกำกับดูแลตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ครอบคลุมวัตถุดิบนำเข้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ไทยได้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลและเป็นที่ยอมรับ โดยดูได้จากมูลค่ารายได้จากการส่งออกเนื้อสัตว์ที่สร้างให้กับประเทศมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี  แต่การแข่งขันในบทต่อไปดังกล่าวผู้ประกอบการธุรกิจปศุสัตว์ไทยก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันกับกรมปศุสัตว์ที่ผ่านมาจะเป็นรูปแบบให้เกิดความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ  ที่จะทำให้เกิดมรรคผลในการรับมือกับการแข่งขันมิติใหม่นี้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สมาคมอาหารสัตว์ ทนแบกรับต้นทุนพุ่ง 15%

จี้ “พาณิชย์” เปิดต้นทุนบีบลดราคาอาหารสัตว์

“เกษตรกร” ร้องระงม ขาดทุน สวนทางราคาอาหารสัตว์พุ่ง

จี้ “พาณิชย์” สอบ รง.อาหารสัตว์ ฉวยขึ้นราคาหรือไม่

“พรศิลป์” ห่วง “CPTPP” ถูกบิดเบือน