ค้าปลีก เปิดทาง ‘ซัพพลายเออร์-SME’ เข้าถึงซอฟต์โลน

13 มิ.ย. 2564 | 12:25 น.

“ค้าปลีก” เปิดเส้นทางซัพพลายเออร์ คู่ค้า เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินกู้ทั้งซอฟต์โลน เทิร์มโลน และแฟคทอริ่ง หวังเสริมสภาพคล่อง พยุงธุรกิจ รักษาการจ้างงาน หลังพิษโควิดฉุดรายได้หาย ค่าใช้จ่ายท่วม มั่นใจต่อลมหายใจรอวันเศรษฐกิจฟื้นตัว

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่หลายธุรกิจยังไม่สามารถยืนหยัดกลับมาเปิดให้บริการเช่นเดิมได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมค้าปลีก ที่มีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ กลาง เล็กทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่าล้านราย หนึ่งในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงมีเรื่องของ Soft Loan เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และแพลตฟอร์มค้าปลีก ก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่จะทำให้เอสเอ็มอีเหล่านี้ เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และไม่ก่อให้เกิดหนี้เสียกับสถาบันการเงิน อีกทั้งยังช่วยให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเดินหน้าต่อได้

แผน Soft Lone กลุ่มค้าปลีก

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เล่าให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพราะมองว่าค้าปลีกสามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ขนาดกลาง และเกษตรกรรายย่อย กับธนาคาร เพื่อให้เกิดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว จากผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีความสัมพันธ์ที่ดี และมีประวัติการซื้อขายของซัพพลายเออร์ ที่สามารถนำไปประกอบการใช้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้

เบื้องต้นแหล่งเงินทุนจะแยกออกเป็น 2 ประเภทคือ เงินทุนเพื่อนำไปปรับปรุงและขยายกิจการ ซึ่งจะต้องผ่านสินเชื่อ Soft Loan ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเต็มวงเงิน ซึ่งหากไม่เข้าเกณฑ์เงื่อนไขของซอฟต์โลน ธนาคารพาณิชย์ก็สามารถพิจารณาสินเชื่ออื่นประเภท Clean Loan หรือ Term Loan ที่มีดอกเบี้ยต่ำใกล้เคียงกับซอฟต์โลนได้

อีกประเภทคือ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ผ่านการให้สินเชื่อ Factoring โดยใช้คำสั่งซื้อหรือใบแจ้งหนี้จากผู้ประกอบการค้าปลีกเป็นหลักประกัน ซึ่งธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้

โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เริ่มต้นต้นแบบของซอฟต์โลนแซนบ็อกซ์ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างเซ็นทรัลรีเทล และธนาคารกสิกรไทย โดยสามารถปล่อยเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอีกว่า 4,000 ราย โดยกว่า 70% ของซัพพลายเออร์เหล่านี้ ไม่เคยเข้าถึงซอฟต์โลนมาก่อน ทำให้ในเฟส 2 สมาคมจึงขยายความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการอื่นอีกกว่า 70 บริษัท พร้อมขยายกลุ่มสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่งและจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่าน Digital Factoring Platform ได้

“เบื้องต้นประเมินว่า จะมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมมากกว่า 1 แสนราย ซึ่งธนาคารต่างๆ จะพิจารณาถึงความสามารถและศักยภาพของแต่ละธุรกิจในการปล่อยสินเชื่อ โดยประเมินว่า 25% ของทั้งหมดจะสามารถผ่านการพิจารณาซอฟต์โลน ส่งผลให้มีวงเงินกู้ราว 7.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือสามารถเข้าพิจารณาต่อในสินเชื่อ Term Loan หรือสินเชื่อ Foctoring ด้วย”

นอกจากนี้ในอนาคตจะขยายฐานกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปยังสมาคมศูนย์การค้า สมาคมภัตตาคารไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ เช่น ท่องเที่ยว บริการ นวด สปา ฯลฯ สามารถยื่นขอสินเชื่อซอฟต์โลนได้ด้วย

ล่าสุดบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และ เซ็นทรัล วิลเลจ ก็ออกมาประกาศสนับสนุนผู้ประกอบการคู่ค้าที่มีกว่า 1.5 หมื่นรายให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านสถาบันการเงินต่างๆ ได้

 

 

โดนนางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น กล่าวว่า บริษัทพร้อมช่วยเหลือคู่ค้าและผู้ประกอบการ SME ให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิดครั้งนี้ โดยสนับสนุนให้เขาถึงเงินกู้ซอฟต์โลน รวมถึงวงเงิน O/D เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง ด้วยระบบ Grading ฐานข้อมูล Credit Score หรือความน่าเชื่อถือของคู่ค้าเซ็นทรัลพัฒนา ที่จะช่วย Tailor-Made แผนสินเชื่อให้คู่ค้าแต่ละรายได้ พร้อมขยายความช่วยเหลือไปยังกลุ่ม Vendors & Suppliers ที่ทำธุรกิจกับบริษัทกว่า 5,000 รายทั่วประเทศด้วย Supply Chain Financing Programme ในการเพิ่มกระแสหมุนเวียนเงินสด เพิ่มแหล่งเงินทุน และช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยธุรกิจ

ขณะที่นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป กล่าวว่า เดอะ มอลล์ กรุ๊ป จะเป็นตัวกลางประสานรวบรวมข้อมูลของผู้ประกอบการร้านค้า ซัพพลายเออร์ เอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูให้กับธนาคารที่ร่วมเป็นพันธมิตร จากนั้นธนาคารจะติดต่อกับผู้ประกอบการที่ยื่นขอวงเงินแต่ละราย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 6,000 ราย ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และรักษาการจ้างงานไว้ได้ จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมา

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,687 วันที่ 13 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564