โควิดคลัสเตอร์โรงงาน ยังไม่ห่วงเท่าขาดตู้คอนเทนเนอร์

06 มิ.ย. 2564 | 10:40 น.
1.9 k

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)ได้ปรับคาดการณ์ส่งออกไทยปี 2564 (ณ พ.ค.64)จากคาดจะขยายตัวได้ 4-6% เพิ่มเป็น 6-7%

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาคการส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะยังช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ(จีดีพี)ไทยขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้(ปี 2563 จีพีดีไทยติดลบ 6%) ซึ่งการปรับคาดการณ์ส่งออกเพิ่มเป็น 6-7% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนขยายตัว 8.4% มูลค่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นมูลค่าสูงสุดรอบ 28 เดือน และเดือนเมษายนล่าสุดตัวเลขขยายตัว 13% เป็นอัตรากรขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือนหรือ 3 ปี ผลพวงจากเศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและจีนที่เป็นหัวขบวนฉุดเศรษฐกิจโลก

โดยสินค้าส่งออกไทยที่ยังขยายตัวได้ดี เช่นยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ถุงมือยาง สินค้ารถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น

“จากจากนี้ยอดส่งออกต้องได้ 20,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนถึงจะได้ 7%  ซึ่งเดือนเมษายนส่งออกไทย ขยายตัวถึง 13%  จากเดือนเมษายน 2563 ฐานตัวเลขส่งออกต่ำจากได้รับผลกระทบจากโควิด ขณะที่ปีนี้ เงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ ก็โอเคช่วยให้ผู้ส่งออกมีความสามารถในการส่งออกที่ดีขึ้น”

-ดูทิศทางกระทรวงพาณิชย์คาดจะปรับเป้าหมายการส่งออกจากที่ตั้งไว้เดิมที่ 4% หรือไม่

 แน่นอน เขาตั้งต่ำเกิน ที่ภาคเอกชนเราประชุมร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมก็ประเมินร่วมกัน เอกชนก็ยืนยันตัวเลขน่าจะประมาณ 6-7%

-ปัจจัยเสี่ยงส่วนหนึ่งคือเรื่องยังขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออก และ ค่าระวางเรือยังสูง

 ใช่ปัญหาก็ยังอยู่ และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เรื่องราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง วัตถุดิบหลักพื้นฐานสูงขึ้นหมดเลย พลาสติก เหล็ก กระดาษ น้ำมัน แต่ไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันได้เปรียบเสียเปรียบกันมาก เพราะทุกประเทศก็ขึ้นเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการก็ต้องปรับราคาขึ้น และต้องวางแผนในเรื่องการผลิตให้ดี แข่งกันเรื่องต้นทุน  เรื่องราคา เรื่องคุณภาพมาตรฐาน

-ห่วงคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายโรงงานหรือไม่

ก็ห่วงครับ ตรงนี้ก็ต้องเร่งในการฉีดวัคซีน ก็ฝากรัฐเร่งฉีดวัคชีนให้ครอบคลุม และรวดเร็วไม่ให้มากระทบกับเครื่องยนต์ส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์สุดท้ายของประเทศที่ยังทำงานได้ดี

-ปัจจัยโควิดกับปัจจัยอื่นเราห่วงเรื่องไหนมากที่สุด

ห่วงแต่ยังห่วงน้อย เมื่อเทียบกับตัวอื่น เช่นเรื่องขาดแคลนตู้ ค่าระวางเรือสูง และการขาดแคลนวัตถุดิบ เช่นขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์ และที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงปัญหา การขาดแคลนแรงงาน

-ตอนนี้ยังมีการแย่งชิงตู้คอนเทนเนอร์กับประเทศอื่นหรือไม่ เช่น จากจีน เวียดนาม

มี จากจีน เวียดนาม ก็ยังมี จีนนี่ตัวหลักเลย เขาให้ราคาตู้สูง เพราะส่งออกได้ดี และตอนนี้เป็นตลาดของผู้ขาย เขาก็จะกำหนดราคา และปริมาณ อุตสาหกรรมในเวียดนามก็ร้อนแรง ตอนนี้ส่งออกมากกว่าประเทศไทยไปแล้ว

-เราจะต้องมีการทำแผนงานผลักดันการส่งออกร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในเดือนที่เหลือของปีนี้อีกหรือไม่

มีคุยเป็นระยะ และในระยะเวลาอันสั้นนี้ก็คือจะต้องทำแผนร่วมกันหลังจากที่ฝ่าวิกฤติหลังโควิดในการขยายการส่งออกให้มากขึ้น ในช่วงไตรมาส 3 ไตรมาส 4 อาจจะต้องหารือเรื่องการทำแผนยุทธศาสตร์ หลังจากฟื้นฟูเศรษฐกิจ

-เราคิดว่าใน 3 เดือนจะเอาโควิดอยู่ใช่หรือไม่ แล้วค่อยมาคุยกัน

 ใช่อาจจะปลายไตรมาส 3 เพื่อหารือร่วมกันในการวางแผนการส่งออก และเร่งแผนฟื้นฟูผู้ประกอบการส่งออก หลังโควิด

-พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านของรัฐบาล จะพอรับมือโควิดรอบ 3 หรือไม่

 ส่วนใหญ่ผมจะบอกว่า พอ-ไม่พอขึ้นอยู่กับคุณมีแผนที่จะทำอะไรให้มันจับต้องได้มากกว่าช่วงที่ผ่านมา เพราะช่วงที่ผ่านมาเราก็ใช้เงินไปเป็นล้านล้านแล้ว  5 แสนล้านที่จะออกก็หวังว่าจะมีการวางแผนการใช้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้อย่างแท้จริง หรือให้ถึงมือผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง หรือผู้ได้รับผลกระทบจากต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง เราห่วงจะลงไม่ถึง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ค่าระวางเรือพุ่ง 300% ส่งออกอาหารยังลุ้น 1 ล้านล้าน

สรท.จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีน แก้สารพัดปัญหาส่งออก

ส่งออกเมษายน พลิกโต 2.1% กลับมาขยายตัวเป็นบวกเดือนที่2

"ส่งออก"-"มาตรการรัฐ"ดันดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 2 เดือนติด

ผ่าเส้นทางวิบากส่งออกไทย ลุ้นกันยาวๆ ดันทั้งปีโต 5-7%