วีฟู้ดส์ รุกทรานส์ฟอร์ม ‘Plant-based’    

23 พ.ค. 2564 | 06:07 น.
641

วีฟู้ดส์ รีแบรนดิ้งพร้อมทรานส์ฟอร์มสู่ “Plant-based Food Company” จับมือฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ ปั้นลาบทอดจากพืช วางขายผ่านโมเดิร์นเทรด ออนไลน์ ก่อนส่งออกตีตลาดอังกฤษ

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาตั้งแต่ปีก่อน ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ต้องปรับตัวเข้ากับชีวิตในยุคใหม่หรือ New Normal และมีความกังวลในเรื่องของสุขภาพอนามัยและสรรหาอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ ใช้บริการดีลิเวอรีมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวตามไปด้วย

สำหรับธุรกิจของวีฟู้ดส์ได้รับผลกระทบทางด้านยอดขายลดลงราว 40% จากช่วงเวลาปกติที่มียอดขายราว 150 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัทที่เดิมวางจำหน่ายในโมเดิร์น เทรด อาทิ คอนวีเนียนสโตร์ ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ฯลฯ มียอดขายลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้คนออกนอกบ้านน้อยลง รวมทั้งยอดขายจากนักท่องเที่ยวที่หายไปด้วย

อย่างไรก็ตามวีฟู้ดส์ ได้ศึกษาทิศทางตลาดและวางแผนธุรกิจมาก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด สืบเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งบริษัทได้ตัดสินใจรีแบรนด์ครั้งใหญ่โดยจัดหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์หลักอาทิ ข้าวโพดน้ำนมข้าวโพด, ข้าวโพดฝัก, ข้าวโพดคัพ และชุดรวมนึ่งสามสหาย ซึ่งเดิมใช้ชื่อแบรนด์ต่างกันให้อยู่ภายใต้แบรนด์เดียวกันคือ วีฟาร์ม

อภิรักษ์ โกษะโยธิน

ทั้งนี้เพื่อปรับ Business Model ใหม่ในการทรานส์ฟอร์มสู่ “Plant-based Food Company” เบื้องต้นบริษัทจับมือบริษัท มอร์ฟู้ด อินโนเทค จำกัด ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสัญชาติไทย เจ้าของแบรนด์ More Meat พัฒนาอาหารพร้อมรับประทานที่ทำมาจากโปรตีนจากพืช โดยผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ออกสู่ตลาดคือ “ลาบทอดจากพืช” ในรูปแบบ ready to eat ภายใต้แบรนด์ “วีฟาร์ม” วางจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดและออนไลน์ รวมทั้งส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ โดยคาดว่าวีฟู้ดส์ จะสามารถเติบโตในตลาดอาหารแพลนต์เบสได้ 25-30 % ภายในปี 2564
 

จากข้อมูล EUROMONITOR พบว่า มูลค่าตลาด Plant-based Foods ทั่วโลกในปี 2562 มีมูลค่า ราว 4.8 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 105% โดยคาดว่ามูลค่าตลาดในปี 2567 จะเติบโตขึ้นไปอยู่ที่ 7.5 แสนล้านบาท ส่วนในประเทศไทย Plant-based Foods มีมูลค่าตลาด 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2562 และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ทำให้ในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดรวม 4.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับแผนงานภายใต้บิสิเนส โมเดลใหม่ วีฟู้ดส์ ทำงานในลักษณะของ concept v food lab (L- Lifesty A-asian plus B- business innovation) โดยบริษัทจะเข้าไปศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและทำงานร่วมกับบริษัทอินโนเวชั่นและมหาวิทยาลัย เพื่อหา product line และโมเดลใหม่ๆในการทำธุรกิจ อาทิเช่นการนำผลิตภัณฑ์ข้าวโพดพร้อมทานเข้าไปร่วมพัฒนาเมนูใหม่กับกับร้านตำมั่ว รวมทั้งแผนการทำแบรนด์ใหม่ “Crazy Corn” ในรูปแบบคีออสด้วย

นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสำคัญในการนำเครื่องมือสื่อดิจิทัลที่เป็นที่นิยม อาทิ เฟซบุ๊ก TikTok คลับเฮาส์ในการสื่อสารผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างการรับรู้และจดจำแบรนด์ รวมทั้งขยายช่องทางจัดจำหน่ายไปยังช่องทางออนไลน์ผ่านมาร์เก็ตเพลสต่างๆ บริการดีลิเวอรี โมเดลหนุ่มสาววีฟาร์ม หรือตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น

“สิ่งที่เป็นความท้าทายของบริษัทวีฟู้ดส์หรือคนที่อยู่ในธุรกิจรีเทล รวมถึงคอนซูเมอร์โปรดักต์ คือการใช้วิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสและใช้โอกาสทางด้านดิจิทัล ดิสรัปชั่นมาต่อยอดและทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ธุรกิจยุคใหม่ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal” 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :