ปักหมุด ศูนย์‘กัญชา’ รพ.ยันฮี ต่อยอดสู่ยา-อาหารเสริม

24 พ.ค. 2564 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2564 | 19:55 น.
1.6 k

รพ.ยันฮี สยายปีก “ศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา” ทุ่ม 50 ล้าน MOU มทร.พระนคร เดินหน้าเพาะปลูกครบวงจร พร้อมต่อยอดสู่เมดิคัล สำหรับโรครุนแรง ทั้งมะเร็งระยะสุดท้าย พาร์กินสัน ฯลฯ รวมถึงยาใช้ภายนอก สเปรย์ ครีมและน้ำมันกัญชา เผยโควิด

ฉุดลูกค้าใช้บริการหายไป 50%

นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการศึกษาและดูงานโรงพยาบาลในต่างประเทศพบว่า ทั่วโลกให้ความสนใจและเลือกใช้ยาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชามาใช้ในการรักษาโรค ดังนั้นเมื่อภาครัฐปลดล็อกให้สามารถนำส่วนของใบ กิ่ง ก้านและรากของผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย โรงพยาบาลยันฮี จึงนำมาต่อยอดและพัฒนาเป็นแพทย์ทางเลือกเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยผ่านศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา

โดยศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชาเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา โดยศูนย์แห่งนี้เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่รักษาโรคด้วยแพทย์ปัจจุบันแล้วอาการไม่ดีขึ้นซึ่งตลอดระยะเวลา 1 เดือนเศษที่เปิดให้บริการพบว่าผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้มารักษาตัวประจำที่โรงพยาบาล และเมื่อการรักษาได้ผลลัพธ์ที่ดี จึงมีการบอกต่อ แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากนักเนื่องจากอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีความรุนแรง

ยุทธศาสตร์

สำหรับแผนการเดินหน้าศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชานั้น ล่าสุดบริษัทได้ลงนามในสัญญา (MOU) กับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) ในการร่วมมือศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตกัญชาทางการแพทย์ เนื่องจากมทร.พระนครมีทีมวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาให้มีคุณภาพ จากระบบการเพาะปลูกแบบปิด รวมทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับการใช้ทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลจะเดินหน้าพัฒนาครบวงจรตั้งแต่การปลูก การสกัดและแปรรูปจนเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งกัญชาทางการแพทย์และกัญชาเพื่อสันทนาการ

เบื้องต้นในเฟสแรกคือการเปิดศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา ซึ่งจะให้บริการรักษาโรคกับผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับ โรคเครียด โรคทางจิต รวมถึงโรคผิวหนังเรื้อรัง ขณะที่เฟส 2 จะเป็นการศึกษาและวิจัยโดยทีมแพทย์และบุคลากรที่ผ่านการอบรมเรื่องของกัญชามาโดยเฉพาะในการต่อยอดจากกัญชาสู่ผลิตภัณฑ์ยาและอื่นๆที่หลากหลาย ทั้งเครื่องดื่มผสมกัญชา ครีมผสมกัญชา ฯลฯ โดยโรงพยาบาลมีเป้าหมายที่จะสกัดยาเพื่อใช้บรรเทาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยาใช้ภายนอก เช่น สเปรย์กัญชาสำหรับคลายกล้ามเนื้อ ครีมผสมกัญชา และน้ำมันกัญชา เป็นต้น

ขณะที่เฟส 3 จะมุ่งเน้นการพัฒนาและสกัดยารักษาโรคขั้นรุนแรง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น โดยคาดว่าศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชานี้จะพร้อมให้บริการครบวงจรทั้งสามเฟส ภายในปลายปีหน้า

ทั้งนี้ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้นำวัตถุดิบจากกัญชามาปรุงเป็นยารักษาโรคจากฟาร์มกัญชาของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา (ลำปาง) ซึ่งได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในประเทศไทยได้มีการใช้ในทางการแพทย์และอนุญาตให้วิสาหกิจชุมชนทำการปลูกได้ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลอีกด้วย

“โรงพยาบาลมีความพร้อมเต็มที่ในการก่อสร้างโรงเรือนเพาะปลูกกัญชาแล้วบนพื้นที่ราว 1,000 ตารางเมตร บริเวณชั้น 15 ซึ่งเป็นการเพาะปลูกแบบอินดอร์ ที่มีระบบตามมาตรฐานสากล ทั้งระบบไฟ ระบบน้ำหยด การติดตั้งกล้องวงจรปิด ฯลฯ และอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาต เพื่อให้ได้กัญชาที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับนำไปใช้ในทางการแพทย์ คาดว่าการลงทุนครั้งนี้จะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ใช้ในการรีโนเวทและจัดตั้งศูนย์ที่วางไว้ 15 ล้านบาท”

นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา

 

ปักหมุด ศูนย์‘กัญชา’ รพ.ยันฮี ต่อยอดสู่ยา-อาหารเสริม

นายแพทย์สุพจน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการให้บริการแพทย์ทางเลือกกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เห็นได้จากจำนวนผู้ที่มาใช้บริการ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนก็ขยายการให้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์แพทย์ทางเลือกที่โรงพยาบาลยันฮีเปิดให้บริการและเป็นที่นิยมทั้งศูนย์ล้างลำไส้ ฝังเข็ม แพทย์แผนไทย และศูนย์รักษาด้วยกัญชา เป็นต้น

อย่างไรก็ดีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบทำให้จำนวนผู้ที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศที่เดินทางพบว่าหายไปเกือบหมด จากเดิมที่มีสัดส่วนราว 30% ในปี 2561-2562 ทำให้ปัจจุบันลูกค้ากว่า 90% เป็นลูกค้าคนไทยและที่เหลือเป็นชาวต่างชาติที่พักอาศัยในเมืองไทย ขณะที่การแพร่ระบาดในระลอก 3 ส่งผลให้ลูกค้าไม่กล้าเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลส่งผลให้รายได้รวมของโรงพยาบาลหายไปเกือบ 50%

“ลูกค้าชาวต่างชาติที่บินเข้ามาใช้บริการมักจะเป็นเคสใหญ่ เช่น โรคเรื้อรัง ดังนั้นแม้จะมีลูกค้าคนไทยเข้าใช้บริการเพิ่ม แต่ส่วนมากจะเป็นเคสเล็กกว่า ทำให้ไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปได้”

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง