โควิด “คลัสเตอร์คลองเตย” กระทบให้บริการท่าเรือ-ส่งออกหรือไม่?

06 พ.ค. 2564 | 10:36 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2564 | 18:12 น.

โควิดคลัสเตอร์คลองเตย ยังไม่กระทบส่งออกผ่านท่าเรือคลองเตย มั่นใจมีการตรวจคุมเข้มและเอาอยู่ ชี้หากลามกระทบยังมีแหลมฉบังท่าเรือหลัก และท่าเรือบกที่ลาดกระบัง รองรับได้

จากสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในคลัสเตอร์คลองเตย ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายร้อยคน จากจำนวนประชากรในชุมชนคลองเตยที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น 8-9 หมื่นคน สร้างความกังวลทุกฝ่ายหากเอาไม่อยู่การแพร่ระบาดของเชื้ออาจลุกลามไปทั่วกรุเทพฯ เพราะคนในพื้นที่มีสถานที่ทำงานหลากหลายทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ บริษัท ห้างร้าน ส่งอาหาร/สินค้าดีลิเวอรี รวมถึงส่วนหนึ่งทำงานในท่าเรือกรุงเทพ(ท่าเรือคลองเตย) ที่เกรงหากมีผู้ติดเชื้ออาจส่งผลกระทบกับการส่งออกของประเทศนั้น

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า ในเบื้องต้นเหตุการณ์ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก เนื่องจากมีคนในชุมชนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ทำงานอยู่ในท่าเรือคลองเตย และปัจจุบันท่าเรือคลองเตยไม่ใช่ท่าเรือหลัก และถูกแบ่งในเรื่องของการโหลดสินค้า ไปที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง(ไอซีดี) หรือท่าเรือบกที่ลาดกระบัง รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังที่เป็นท่าเรือน้ำลึกที่เป็นท่าเรือหลักของประเทศ ทำให้แบ่งเบาในเรื่องของการโหลดสินค้าไปได้

โควิด “คลัสเตอร์คลองเตย” กระทบให้บริการท่าเรือ-ส่งออกหรือไม่?

“สรุปอันที่ 1.คือมีแรงงานจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ทำงานที่ท่าเรือคลองเตย 2.ณ ปัจจุบัน ท่าเรือคลองเตยก็ไม่ใช่ท่าเรือหลัก แต่หลัก ๆ ยังมีอีก 2 ที่ คือท่าเรือแหลมฉบัง และ ICD ลาดกระบัง ก็สามารถแบ่งเบาภาระได้ 3.แล้วจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ในระยะสั้นถ้าการฉีดวัคซีน และการควบคุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบได้เลยว่า เราจะเข้าไปสู่จุดที่การกระจายตัวของโควิดลุกลามจนควบคุมไม่ได้ คงยังไม่มาถึงในระยะเวลาอันใกล้ ก็คือโอกาสที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้น้อย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีผู้ติดเชื้อลุกลามในท่าเรือจนทำงานไม่ได้ ดังนั้นโอกาสที่จะควบคุมไม่ได้มีต่ำ

ดังนั้นในแง่การบริหารจัดการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งในการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และต้องเร่งฉีดให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เชื่อว่าท่าเรือคลองเตยมีมาตรการคุมเข้มคนเข้า-ออกท่าเรืออย่างเข้มงวด มีการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันเชื้อที่ดีตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข คนไหนติดเชื้อก็ต้องกักตัวและรักษา แต่กลุ่มไหนไม่เสี่ยงก็ทำงานตามปกติ และต้องควบคุมดูแลตัวเอง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐและเอกชนก็มีความร่วมมือในการเร่งระดมฉีดวัคซีนในคลัสเตอร์คลองเตยแล้ว

โควิด “คลัสเตอร์คลองเตย” กระทบให้บริการท่าเรือ-ส่งออกหรือไม่?

นายชัยชาญกล่าวอีกว่า สำหรับท่าเรือคลองเตยที่ผ่านมาจะรองรับผู้ประกอบการที่มีโรงงานผลิตในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร หรือในแถบปริมณฑล รวมถึงอยุธยา ในการโหลดสินค้าขึ้นเรือขนส่งสินค้าจากต่างประเทศที่เป็นเรือขนาดกลางเพื่อส่งออก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอื่น ๆ โดยท่าเรือคลองเตยเป็นท่าเรือที่มีร่องน้ำไม่ลึก มีความลึก 8-10 เมตร ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังท่าเรือหลักของประเทศมีร่องน้ำลึก 15-20 เมตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ตรวจเชิงรุก 'คลองเตย' พบติดเชื้อเพิ่ม 154 ราย

รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 5 พ.ค.64 แบบอัพเดทล่าสุด

ตรวจโควิด-19 ฟรี 3 จุดใน 3 จังหวัด มีที่ไหนบ้าง เช็กเลย!

จี้คุม1,270ชุมชนแออัดทั่วกรุงเสี่ยงระบาดเชื้อโควิด

กทท.เปิดจุดตรวจโควิด “ตลาดคลองเตย” เพิ่ม 2 แห่ง