ระนองผงาดอุตสาหกรรมประมง เคาะ“บ้านสามแหลม” ตั้ง“นิคมฯครบวงจร”รับSEC

06 พ.ค. 2564 | 08:00 น.

ระนองเลือก “บ้านสามแหลม” เหมาะสุดตั้งเขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงครบวงจร ทั้งโซนแปรรูปสัตว์น้ำ โลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า การซ่อมและต่อเรือ การซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ ระบบสาธารณูปโภค  รับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)  

ระนองเลือก “บ้านสามแหลม” เหมาะสุดตั้งเขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงครบวงจร ทั้งโซนแปรรูปสัตว์น้ำ โลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า การซ่อมและต่อเรือ การซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ ระบบสาธารณูปโภค  รับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)

 

นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุมสัมมาให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการประมง จังหวัดระนอง เมื่อเร็ว ๆ นี้  ว่า ตามนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern  Economic  Corrido : SEC) ของรัฐบาล  จังหวัดระนองมีโครงการจะขยายท่าเรือเพื่อการขนส่งเพิ่มจากเดิม เพื่อสนับสนุนศักยภาพการเจริญเติบโตทางพัฒนาเศรษฐกิ จของกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) 

  ประกอบกับจังหวัดระนองตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอันดามัน มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเมียนมา ส่งผลให้มีสัตว์น้ำขึ้นท่าในปริมาณมาก เมื่อเทียบกับท่าขึ้นสัตว์น้ำในจังหวัดต่าง ๆ ทางฝั่งทะเลอันดามัน รวมถึงมีการใช้เรือเพื่อการท่องเที่ยว ทั้งในพื้นที่และเชื่อมต่อกับประเทศเมียนมา 

จังหวัดระนอง จึงจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมหลังท่าให้เพียงพอและเหมาะสมในการรองรับการเจริญเติบโตดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำทะเล การซ่อมและต่อเรือ โลจิสติกส์ และการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น

นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระนองมีปัญหาการจัดหาทำเลที่ตั้งโรงงาน เนื่องจากการบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัด และปัญหาการประมงผิดกฎหมาย มีสถานประกอบการบางส่วนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติห้ามตั้งโรงงาน รวมทั้งพื้นที่ของจังหวัดส่วนใหญ่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์  ไม่สามารถอนุญาตให้ตั้งโรงงานได้ 

ผู้ว่าฯระนองชี้อีกว่า ขณะที่ศักยภาพการพัฒนาของระนองมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เส้นทางจราจร 4 เลน จากจังหวัดชุมพร-ระนอง และขยายช่องจราจรต่อเนื่องสู่ช่วงระนอง-พังงา-ภูเก็ต การขยายระบบขนส่งทางรถไฟชุมพร-ระนอง การขนส่งสินค้า Land-bridge การพัฒนาท่าเรือระนอง และท่าอากาศยานระนอง จะกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอีกมาก การจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับเป็นเขตอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญและจำเป็น เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังสนับสนุนศักยภาพการเจริญเติบโตของท่าเรือระนอง และการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) อีกทางหนึ่งด้วย  

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง โดยว่าจ้าง บริษัท เทสโก้ จำกัด เป็นผู้ศึกษา ทั้งนี้ ผลการศึกษาของโครงการดังกล่าว จะเป็นข้อมูลส่งเสริมการทำแผนที่การใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและฮับโลจิสติกส์ในอนาคต รวมถึงเพื่อวางแผนลงทุนและพัฒนาโครงการจัดตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงในระยะต่อไป 

ผลการศึกษาของโครงการเบื้องต้น ได้พื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน 2 แห่ง คือ พื้นที่ตำบลปากน้ำ และตำบลราชกรูด ในอำเภอเมืองระนอง ซึ่งได้นำไปรับฟังความคิดเห็นจากท้องถิ่นด้วยแล้ว และผลการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน พบว่ามีความเหมาะสมในการลงทุน 

โอกาสเศรษฐกิจระนอง

ระนองผงาดอุตสาหกรรมประมง  เคาะ“บ้านสามแหลม”  ตั้ง“นิคมฯครบวงจร”รับSEC

นางจันทร์จิรา บางเสน  อุตสาห กรรมจังหวัดระนอง กล่าวว่า จังหวัดระนอง ได้รับงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557   เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมมีศักยภาพ  เบื้องต้นมีพื้นที่เหมาะสม 2 แห่ง  คือ  1.เขตพัฒนาประกอบการฯ บ้านสามแหลม ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง ขนาดพื้นที่ 415 ไร่  และ 2. เขตพัฒนาเขตประกอบการฯบ้านล่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง ขนาดพื้นที่ 1,301 ไร่  

โดยพื้นที่พัฒนาเขตประกอบการฯบ้านสามแหลม ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง  เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกให้มีความเหมาะสมเป็นลำดับที่ 1  เนื่องจากมีความเหมาะสมด้านที่ตั้ง ที่อยู่ติดกับพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีลักษณะเป็นอ่าวเว้าลึกเข้าไปในแผ่นดิน สามารถเข้าถึงได้โดยตรงจากทางน้ำ  โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าการประมงที่มาจากฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วยศักยภาพด้านที่ตั้งอยู่ติดกับท่าเรือน้ำลึกระนอง สามารถขนถ่ายสินค้าที่ผลิตในพื้นที่โครงการออกสู่เส้นทางการค้าทางเรือได้โดยตรง และยังสามารถเชื่อมต่อกับโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land   Bridge) ในการขนส่งสินค้าข้ามฝั่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามันได้อีกด้วย  

สำหรับแผนการใช้งานในเขตพื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมงจังหวัดระนอง ประกอบด้วย โซนแปรรูปอาหารทะเล โซนอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง โซนอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง พื้นที่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง การขนส่งและซ่อมเรือประมง พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ ได้แก่ ตลาดปลา แพปลา ลานขนถ่ายสินค้าท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือน้ำลึก กลุ่มอาคารสาธารณูปโภค ตลาดกลางสินค้าประมง สำนักงานงานและศูนย์วิจัยโครงการ โรงงานผลิตไฟฟ้า ประปา  ลานจอดรถ และอื่น ๆ  รวมถึงพื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวก ท่าเรือท่องเที่ยว แนวกันชนระบบนิเวศ ตลอดจนพื้นที่อยู่อาศัย ได้แก่ กลุ่มบ้านพักเจ้าหน้าที่ และพื้นที่ให้บริการ  กลุ่มอาคารบ้านพักแรงงาน เป็นต้น 

อุตสาหกรรมจังหวัดระนอง กล่าวอีกว่า หลังจากการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้น จะขับเคลื่อนโครงการนี้ใน 2 ด้านควบคู่กันไป  คือ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง จะผลักดันโครงการสู่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอเป็นเป็นนโยบาย และขับเคลื่อนสู่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อไป ส่วนภาคเอกชนจังหวัดระนอง ก็จะขับเคลื่อนสู่สภาอุตสาหกรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนเรื่องดังนี้ต่อไป  

ระนองผงาดอุตสาหกรรมประมง  เคาะ“บ้านสามแหลม”  ตั้ง“นิคมฯครบวงจร”รับSEC

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง