ดราม่า “ทุเรียนอ่อน”

06 เม.ย. 2564 | 12:10 น.
1.3 k

​​​​​​​เดือดตั้งแต่ต้นฤดูกาล “ศึกทุเรียนอ่อน” ปมปัญหาจนกลายเป็นดราม่า ระหว่าง “ล้ง - สวพ.6 " ตั้งการ์ดเข้ม พิทักษ์ทุเรียนไทย ลาก “เกษตรกร” เป็นตัวประกัน ลุ้นทางออก

ทุเรียนอ่อน

 

แหล่งข่าวผู้ประกอบการล้ง เล่าที่มาที่ไป ก่อนที่สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด  (DMA) หรือ (ล้ง) จะตัดสินใจมติหยุดรับซื้อทุเรียนทุเรียน ในวันที่ 8-15 เม.ย. นี้ (มติดังกล่าวยกเลิกแล้ว ให้ซื้อปกติ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.64 ) สาเหตุเกิดจาก 1. เรื่อง GAP ที่ห้ามใช้ซ้ำ ซึ่งไปเป็นไม่ได้เลยเพราะชาวสวนไม่ได้มี GAP ทั้งหมดแต่ทาง สวพ. มาบังคับใช้กับผู้ส่งออก 100% และเกิดกรณีฟ้องร้องผู้ที่ใช้ GAP ของสวนอื่นที่ไม่ได้มีการซื้อ ณ เวลานั้น นอกจากนี้ยังมีความยุ่งยากวุ่นวายเรื่องเอกสารอีกมากมาย

 

2. การตรวจเปอร์เซนต์แป้ง วัตถุประสงค์คือเห็นด้วยสำหรับการกำจัดทุเรียนอ่อน แต่การปฏิบัติจริงส่งผลกระทบหลายด้าน  การระบุเปอร์เซนต์แป้งต่ำสุดคือ 32% ซึ่งก็คือเนื้อ 1 บางลูกเหลือง หวาน ก็ยังไม่ถึง 32 % ซึ่งก็ไม่ผ่าน หากไม่ผ่าน จะได้ใบเหลือง ถ้าใบเหลือง 2 ครั้งจะทำให้ต้องปิดล้ง 15 วัน จึงเกิดความสับสนในการคัดคุณภาพ สายตัดก็ไม่กล้าตัดเพราะถ้าติดเปอร์เซนต์ไม่ผ่านมาก็จะถูกดำเนินคดีด้วย เช่น สวนใหญ่ๆถ้าตัดต่ำสุดแป้ง 32 % แล้วจะเหลือจะตัดทันไหม จะร่วงหล่นขนาดไหน ทั้งหมดนี้คือผลกระทบคร่าวๆ มีรายละเอียดอีกมากมายที่เป็นอุปสรรคของการส่งออก ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาในวันที่ต้องตัดพร้อมๆกัน คือ "แรงงาน" และ "กำลังการผลิต"

 

 

ชลธี นุ่มหนู

 

ขณะด้าน  นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อโซเชียลและแชร์ต่อกันว่าสวพ.6 สั่งให้โรงคัดบรรจุหยุดรับซื้อทุเรียนนั้น ขอเรียนชี้แจงว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง สวพ.6  ไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งการเอกชนหรือหน่วยงานอื่นได้เช่นนี้ การประกาศหยุดรับซื้อทุเรียนเป็นเรื่องของโรงคัดบรรจุเอง สวพ.6 ทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุป้องกันมิให้มีการส่งออกทุเรียนอ่อนที่จะทำลายตลาดทุเรียนไทยเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงขอให้ใช้วิจารณญาณและใช้สติก่อน comment หรือส่งต่อข้อความใดๆอันเป็นเท็จที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของหน่วยงานราชการซึ่งจะมีความผิดตามกฎหมายด้วย

 

จากการลงพื้นที่ตรวจทุเรียนส่งออกในหลายโรงคัดบรรจุที่พบทุเรียนอ่อนเจ้าหน้าที่มักเจอคำถามว่า "หนามนี้ทำไมแป้งยังไม่ได้" หรือ "สีขนาดนี้แล้วทำไมแป้งต่ำ "หรือ "ครบกำหนดวันแล้วทำไมยังตัดไม่ได้" อยากจะขออธิบายชี้แจงว่าการนับอายุวัน สีเนื้อหรือลักษณะภายนอกใช้เป็นตัวตัดสินความอ่อนแก่ของทุเรียนไม่ได้เนื่องจากมีหลายปัจจัยทั้งปัยจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการสุกแก่ของทุเรียน เราจึงต้องใช้การวัดค่าเปอร์เซ็นต์แป้งหรือเปอร์เซ็นน้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน

ผังการชักตัวอย่างทดสอบความ อ่อน-แก่ ทุเรียน

 

ปีนี้ความแปรปรวนของอากาศส่งผลให้การสะสมแป้งและน้ำตาลของทุเรียนช้าลงเราจึงต้องเลื่อนวันเก็บเกี่ยวออกไปกว่าปกติ ประกอบกับชาวสวนหลายคนมีการใช้กรดอมิโนบางชนิดฉีดพ่นเร่งสีแต่ไม่ทำให้เกิดการสะสมแป้งและน้ำตาล มีเหตุและผลที่ทำให้เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำที่ผู้ประกอบการและชาวสวนต้องเข้าใจตรงกันไม่ควรที่จะเอามาเป็นข้อดราม่ากับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เปอร์เซ็นต์แป้งของทุเรียนแต่ละพันธุ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่ยอมรับได้เท่านั้น

 

ดังนั้นเมื่อมันเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำแล้วก็ไม่ควรให้ต่ำกว่านี้เพราะนั่นคือความด้อยคุณภาพของทุเรียนไทยใน "สงครามทุเรียนโลก" วันนี้เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานทำงานกันอย่างหนักเพื่อพิทักษ์ทุเรียนไทยในตลาดโลกจึงขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน