สีแรงดึงดูด ในโลกการตลาด (1)

27 มี.ค. 2564 | 04:51 น.
1.4 k

นักจิตวิทยาเชื่อว่า “สี” (Color) มีผลต่อพฤติกรรม ความรู้สึก ความคิด และกระบวนการทางกายภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์ จากงานวิจัยเรื่อง The Effects of Color on Human Behavior ซึ่งตีพิมพ์ลง Journal of the Association for the Study of Perception (1974) ยืนยันว่า สี ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ด้วยการมองเห็น มีผลต่อการตอบสนองทางพฤติกรรมและอารมณ์ของมนุษย์

เนื่องจากการรับรู้เรื่องสีของมนุษย์เกี่ยวเนื่องกับตัวแปรมากมาย เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และลักษณะของแต่ละบุคคล ซึ่งตัวแปรเหล่านี้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของแรงจูงใจ การเคลื่อนไหว  และการแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง จึงสรุปได้ว่า สีมีผลต่อกายภาพและจิตใจของมนุษย์

ปัจจุบันนักสื่อสารการตลาดได้นำผลสรุปของงานวิจัยเกี่ยวกับสีและจิตวิทยามาใช้ในงานโฆษณามากมาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดผู้บริโภค และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการซื้อสินค้า เพราะนอกจากผลงานวิจัยจิตวิทยาเรื่องสีแล้ว สีเป็นหนึ่งในปัจจัยแรกๆ ที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่เห็น 

จากผลสำรวจและวิจัยของสำนักเลขาธิการผู้จัดงาน Seoul International Color Expo ในปี 2004 พบว่า 93% ของผู้ซื้อสินค้าจะพิจารณาซื้อสินค้าจากลักษณะภายนอกที่มองเห็น และ 84.7% ของผู้ซื้อสินค้าเลือกให้ สี เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานในการตัดสินใจซื้อสินค้า การเลือกใช้สีกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวแบรนด์หรือสินค้าจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสีของโลโก้ สีของบรรจุภัณฑ์ สีป้ายสินค้า โทนสีของภาพยนตร์โฆษณา และป้ายบิลบอร์ด 

สีแรงดึงดูด ในโลกการตลาด (1)

โดยนักการตลาดส่วนใหญ่ใช้หลักการเลือกสีให้สอดคล้องกับตัวตนของแบรนด์ และความเหมาะสมของตัวสินค้า ซึ่งการเลือกใช้สีให้เหมาะสมกับตัวแบรนด์ยังช่วยสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ (Brand Awareness) ได้ด้วย ยืนยันด้วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโลโยลา แมรี่แลนด์ (Loyola University Maryland) ระบุว่า มากกว่า 80% สีช่วยให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์หรือตราสินค้า (Brand  Recognition) ได้ดี ดังนั้นมาดูกันดีว่า สีแต่ละสีสื่อถึงอะไรบ้างในเชิงจิตวิทยาการตลาด
 

สีแดง: สื่อถึงพลังอำนาจ ความเร่งรีบ ความปรารถนา บางงานวิจัยพบว่า เมื่อผู้บริโภคเห็นสีแดง จะช่วยกระตุ้นความดันและอัตราการเต้นหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหว ความรู้สึกตื่นเต้น และความต้องการ เหมือนเป็นปุ่มกดฉุกเฉินให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งทันที แบรนด์อาหารจานด่วน (Fast-Food) มักชอบใช้สีแดง 

สีส้ม: เป็นการผสมผสานพลังจากสีแดงและความเป็นมิตรกับความสนุกจากสีเหลือง ทำให้ผู้บริโภคที่เห็นสีส้มเกิดความรู้สึกอบอุ่นทางกายภาพและจิตใจ และยังทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความมั่นใจต่อแบรนด์ เรามักจะเห็นสีส้มเกี่ยวข้องกับแบรนด์สินค้าหลากหลายประเภท เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เว็บไซต์ และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง 
                                             (อ่านต่อฉบับหน้า)

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :