โจทย์หิน  “เก็บค่าน้ำสาธารณะ”  รัฐเอาด้วยหรือไม่?

27 มี.ค. 2564 | 14:05 น.
1.0 k

โจทย์หิน  “เก็บค่าน้ำสาธารณะ”  รัฐเอาด้วยหรือไม่? อัพเดทข้อมูลสด ๆ ร้อน ๆ จากนายอธิวัฒน์ สุคนธประดิษฐ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไขทุกปมข้องใจ

โจทย์หิน   “เก็บค่าน้ำสาธารณะ”   รัฐเอาด้วยหรือไม่? อัพเดทข้อมูลสด ๆ ร้อน ๆ จากนายอธิวัฒน์ สุคนธประดิษฐ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไขทุกปมข้องใจ

เผือกร้อน “ปมเก็บค่าทรัพยากรน้ำสาธารณะ”  ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 ยกเว้นในหมวด 4 เรื่องการจัดสรรน้ำ และการใช้น้ำ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีหลังพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ล่าสุดครบกำหนดแล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อทุกภาคส่วน โดยในส่วนของการใช้น้ำประเภทที่ 1 เพื่อใช้ในการเกษตร ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้ตั้งตุ๊กตาในการออกไปรับฟังความคิดเห็นเกษตรกรในลุ่มน้ำต่าง ๆ จากเดิมจะเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรที่ถือครองที่ดินตั้งแต่ 63 ไร่ขึ้นไป ล่าสุดปรับใหม่เป็น 66 ไร่ขึ้นไป แต่ปัจจุบันก็ยังไม่นิ่ง ถึงเวลาอาจจะปรับใหม่อีก 

ส่วนการจัดสรรน้ำประเภท 2 และประเภท 3 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ กำลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้ “ฐานเศรษฐกิจ”  สัมภาษณ์พิเศษ “นายอธิวัฒน์ สุคนธประดิษฐ” รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงปัจจุบันและอนาคตหลังบังคับใช้กฎหมาย

-เปิดเวทีรับฟังความเห็น

นายอธิวัฒน์  กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำ อยู่ระหว่างการจ้างสำนักศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษาและยกร่างอนุบัญญัติที่ออกตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ในส่วนที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ และภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำ (หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ) มีระยะเวลาดำเนินงาน 240 วัน (1 ก.ย. 2563-28 เม.ย.2564)

“ในการดำเนินงานจะเปิดรับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและลดความขัดแย้งจากการบังคับใช้อนุบัญญัติ (กฎหมายลำดับรอง) ในอนาคต รวมทั้งร่างหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในหมวด 4 ในเรื่องการแบ่งกลุ่มผู้ใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ ประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น ๆ และน้ำประเภทที่สาม ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง”

ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำได้ยกร่างอนุบัญญัติ แบ่งเป็นกฎกระทรวง 3 ฉบับ และประกาศกรม 2 ฉบับ  ประกอบด้วย 1. ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต การอนุญาต การขอและการออกใบแทนใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ... 

2. ร่างประกาศกรมทรัพยากรน้ำ เรื่อง แบบคำขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามและแผนการบริหารจัดการน้ำ พ.ศ. ....  3.ร่างประกาศกรมทรัพยากรน้ำ เรื่อง แบบใบรับคำขอ ใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต คำขอรับใบแทนใบอนุญาต และแบบอื่นๆ พ.ศ. .... และ 4.ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ....  และ 5. ร่างประกาศกรมทรัพยากรน้ำ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตั้งเครื่องมือวัดหรือประเมินปริมาณน้ำที่ใช้ และการเก็บข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการตรวจสอบและควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะของผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. ....

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นได้จัดไปแล้ว 2 ครั้ง ที่เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ส่วนครั้งที่ 3 จะจัดที่สุพรรณบุรี(2 เม.ย.) ครั้งที่ 4 ที่ขอนแก่น (8 เม.ย.) และครั้งที่ 5 ที่ระยอง( 22 เม.ย.)กับกลุ่มผู้ใช้น้ำในพ้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 

ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำสาธารณะ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมชลประทาน ยกตัวอย่างโมเดลการจัดเก็บค่าน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ จะต้องมีความสัมพันธ์กับกรมชลประทาน และต้องพูดคุยกันว่าปัจจัยพื้นฐานมีอะไรบ้าง เช่น ในเรื่องของพื้นที่ลุ่มน้ำ ตอนนี้ประกาศ 22 ลุ่มน้ำ จากเดิม 25 ลุ่มน้ำ กรมจะดูแลทรัพยากรน้ำสาธารณะที่มี 1.7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ บริบทต่าง ๆ ต้องมาปรับกันอีกว่าพื้นฐานการใช้น้ำแต่ละลุ่มน้ำเป็นอย่างไรก็ต้องนำพวกนี้มาคิดคำนวณ แต่การคิดแล้วแต่จะมีสูตรอะไรก็แล้วแต่ปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี  ทรัพยากรน้ำสาธารณะ

-โมเดลเก็บค่าน้ำขั้นบันได

สำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สอง จะมีการกำหนดการจัดเก็บในอัตราต่างกัน ตัวอย่าง  กรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 45,000  ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อเดือน ให้ชำระตามอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน  แต่หากมีปริมาณการใช้น้ำตั้งแต่  45,001 แต่ไม่เกิน 90,000  ลบ.ม.ต่อเดือน ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ10 ของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน และกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกินกว่า 90,000  ลบ.ม.ต่อเดือน ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ของของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน โดยโมเดลนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ

ส่วนผู้ได้รับใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สาม กรณีใช้น้ำตั้งแต่ 90,000 แต่ไม่เกิน 135,000 ลบ.ม.ต่อเดือน ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ40 ของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน และกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกินกว่า 135,001  ลบ.ม.ต่อเดือนขึ้นไป ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 ของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน จะต้องขอความเห็นคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ ถึงจะออกใบอนุญาตได้

“โมเดลการจัดเก็บค่าน้ำข้างต้น เป็นเพียงตุ๊กตาของกรมทรัพยากรน้ำ อาจจะมีการปรับแก้อีกยังไม่ได้ข้อสรุป เช่นเดียวกับการค่าเก็บน้ำ จะต้องมาหารือกันอีกครั้งของทั้ง 3 หน่วยงานน้ำของประเทศ และ สทนช. ก่อนที่จะส่งให้ กนช. ที่มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายเห็นชอบต่อไป”

อย่างไรก็ดีก็มองว่าการเก็บค่าน้ำจากทรัพยากรน้ำสาธารณะถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ทุกหน่วยงานจะต้องมาบูรณาการร่วมกันและดีที่สุดในการบริหารจัดการน้ำ สรุปคือ แม้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าหลังตรากฎหมายแล้วจะผ่อนปรนต่อไปอีกหรือไม่ 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง