PRINC เปิดแนวรบ  ทรานส์ฟอร์มสู่ ‘เฮลท์เทค คอมพานี’ 

19 มี.ค. 2564 | 07:07 น.
620

เปิดยุทธศาสตร์ “PRINC” เดินหน้า New Era ทรานส์ฟอร์มสู่เฮลท์เทค คอมพานี สยายปีกธุรกิจเฮลท์แอนด์เวลเนสเต็มตัว ปักหมุด 4 กลุ่มธุรกิจ “โรงพยาบาล-คลินิก-ศูนย์สุขภาพและความงาม-ศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงวัย” พร้อมเปิดแนวรบต่างประเทศ

ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลพริ้นซ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยุทธศาสตร์การก้าวสู่ New Era ของพริ้นซิเพิลฯ คือการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่เฮลท์เทค คอมพานี ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มต้นขึ้นโดยร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดทำแพลตฟอร์มโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลในต่างประเทศ

ดร.สาธิต วิทยากร

“ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ในเมืองไทยมีน้อยมาก และถือว่าช้าที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหลายอุตสาหกรรม ขณะที่ในต่างประเทศเช่น จีน มีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการเทเล เมดิซีน , อี-เพย์เมนท์ ซึ่งการจับมือเป็นพันธมิตรกับพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญจะทำให้เราสามารถพัฒนาสู่เฮลท์เทค คอมพานีได้อย่างรวดเร็ว”

โดยพันธมิตรที่เข้ามาร่วมพัฒนาระบบมองเห็นถึงศักยภาพของบริษัทที่มีการให้บริการ On-Cloud อยู่แล้ว จึงร่วมกันพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มขึ้น เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำไปใช้ได้ทันที นับเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทสามารถขยายการลงทุนไปในต่างประเทศได้ ซึ่งเบื้องต้นบริษัทได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน 3 ปีนับจากนี้

ทั้งนี้เพื่อรองรับแผนก้าวสู่ธุรกิจเฮลท์แอนด์เวลเนส ในปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุนราว 1,200-1,500 ล้านบาทสำหรับการเข้าร่วมทุนในโรงพยาบาลตามหัวเมืองรอง ที่มีศักยภาพและต้องการขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีการพูดคุยกันอยู่ 3 ราย มีทั้งโรงพยาบาลขนาด 300-400 เตียงและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีโรงพยาบาลรวม 11 แห่ง โดยล่าสุดมีแผนเปิดให้บริการพริ้นซ์ ลำพูนในเดือนมีนาคมนี้ รพ.พริ้นซ์ ศรีสะเกษ ในเดือนเมษายน และโรงพยาบาลในภาคใต้อีก 2 แห่ง

แผนรุก PRINC

“ในภาวะเช่นนี้หลายโรงพยาบาลพบว่าไม่สามารถยืนอยู่คนเดียวได้ ต้องเผชิญทั้งเรื่องของการเงิน ซัพพลายเออร์ รวมถึงการบริหารจัดการ ดังนั้นการได้ร่วมเป็นพันธมิตรกัน โดยที่เจ้าของเดิมก็ยังถือหุ้นอยู่ อาจจะในสัดส่วน 30-40% และเราเข้าไปร่วมลงทุน จะช่วยเสริมให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้”

ขณะที่ความคืบหน้าในการก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่ม NKG ประเทศญี่ปุ่นนั้น จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ดีเลย์ แต่ล่าสุดทีมงานญี่ปุ่นได้เข้ามาดำเนินการแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ตลอดจนการทำไพลอตเทสต์ ซึ่งเมื่อสำเร็จจะเริ่มดำเนินการสร้างแบรนดิ้ง และการตลาด ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดรับผู้สนใจเข้ามาใช้บริการได้ภายในกลางปีนี้ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อไป

“ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงวัยแห่งแรกจะเกิดขึ้นที่รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิซึ่งใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาทในการปรับปรุงแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่าง
การจัดเทรนนิ่งบุคลากรทุกๆ ฝ่ายเพื่อให้มีความพร้อมสูงสุด ถือเป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงวัยแห่งแรกของประเทศไทย ไม่ใช่การรักษาหรือดูแลผู้ป่วยสูงวัยเท่านั้น”

นอกจากนี้บริษัทมีแผนขยายสาขาคลินิกในชุมชนต่างๆ ต่อเนื่องจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 10 แห่ง และตั้งเป้าหมายที่จะขยายให้ได้ 100 แห่งภายในปี 2566 รวมทั้งมีแผนลงทุนในธุรกิจเวลเนส ดูแลด้านสุขภาพและความงาม โดยให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวมทั้งเรื่องของแอนไทน์เอจจิ้ง รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพและความงาม ซึ่งบริษัทให้ความสนใจและศึกษามาต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นจะจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อดำเนินการโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ดีหลังการเข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดความร่วมมือกันในหลายด้าน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี ทีมแพทย์และบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทางของโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ไปให้บริการตามโรงพยาบาลในเครือทั้ง 11 แห่ง เริ่มตั้งแต่จัดตั้งศูนย์กระดูกสันหลัง Absolute Spine Care และศูนย์ข้อเข่าและข้อสะโพก Joint Surgery Center ที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี

“ที่ผ่านมาการผนึกความร่วมมือกับรพ. บำรุงราษฏร์ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิเป็นต้นแบบ และปัจจุบันมีการขยายไปยังโรงพยาบาลในเครือต่างๆ อาทิ การจัดตั้งศูนย์รักษามะเร็งแบบองค์รวมในระยะแรกที่โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก และโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564”

ดร.สาธิต กล่าวอีกว่า ด้านผลประกอบการบริษัทตั้งเป้าเติบโต 40%ต่อปี ซึ่งในปี 2563 ถือเป็นปีเฉพาะกิจ ที่ต้องเผชิญกับโควิดทำให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ดี บริษัทยังให้ความสนใจเรื่องของวัคซีน โดยต้องการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ เพราะเชื่อมั่นว่า หากเอกชนช่วยกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้จำนวนมากจะสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการเปิดประเทศได้

“เชื่อว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้มุ่งหวังกำไรจากการฉีดวัคซีน แต่ต้องการช่วยกระจายให้เกิดการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพราะคาดหวังให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัว เพราะวันนี้หลายประเทศทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้ว และพร้อมออกเดินทางหากไทยยังไม่พร้อมเปิดรับ ผู้คนเหล่านั้นก็จะเบี่ยงไปหาประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน”

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปี 2563 มีรายได้รวม 2,650 ล้านบาท ลดลง 7.7% มาจากธุรกิจโรงพยาบาล 2,290 ล้านบาท ลดลง 0.3% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ 360 ล้านบาท ลดลง 37% 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

PRINC คาดนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 กลางปี 64

PRINC เดินแผนสู่ NEW ERA ชูเทคโนโลยีบุกตลาดเฮลท์แคร์

PRINC เดินแผนสู่ NEW ERA ชูเทคโนโลยีบุกตลาดเฮลท์แคร์

พลิกโฉม "ศิริเวชลำพูน" สู่ “พริ้นซ์ ลำพูน” มี.ค. นี้

BH ยันเลี่ยงขัดแย้งทางผลประโยชน์ PRINC เหตุผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียวกัน

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,660 วันที่ 11 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2564