"ไทย-จีน"จับมือแก้ไข ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

27 ก.พ. 2564 | 15:32 น.
596

​กรมทรัพย์สินทางปัญญาหารือทูตพาณิชย์จีน กระชับความร่วมมือทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมร่วมแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกัน เร่งผลักดันการจดทะเบียนสินค้า GI ไทย – จีน ก่อนเตรียมลงนาม MOU จันทร์หน้า

 

 

 

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 นายหวัง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้พบหารือเพื่อกระชับความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่อ่อนไหวของทั้งสองประเทศ ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเร่งรัดการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ระหว่างกัน

 

นายวุฒิไกร กล่าวว่า “รัฐบาลไทยและจีนให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งในการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยืนยันร่วมมือกันให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการของสองประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยรับเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจีน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยในจีนจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นธรรมและทันท่วงที นอกจากนี้ ฝ่ายจีนยังได้ขอทราบแนวทางของไทยในการแก้ไขปัญหาการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่อ่อนไหวสำหรับคนจีนในไทยด้วย”

 

\"ไทย-จีน\"จับมือแก้ไข  ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

 

“การหารือกับทูตพาณิชย์จีนในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำไปสู่ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการทั้งของไทยและจีนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ฝ่ายจีนยังรับที่จะผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ของไทย 3 รายการในจีนโดยเร็ว คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง เพื่อเป็นตัวอย่างของความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งฝ่ายจีนยังพร้อมให้การสนับสนุนทุนการศึกษาและฝึกอบรมระดับปริญญาในด้านทรัพย์สินทางปัญญากับไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้ผู้เกี่ยวข้องของไทยได้รับองค์ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการพัฒนานวัตกรรม ที่เป็นจุดแข็งของจีนในปัจจุบันด้วย”

 

\"ไทย-จีน\"จับมือแก้ไข  ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

“เพื่อให้ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างไทยและจีนมีผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างสองประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน (CNIPA) ผ่านระบบ VDO Conferenceข้ามประเทศ ในวันที่ 1 มีนาคม 2564 นี้ด้วย” นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้าย

\"ไทย-จีน\"จับมือแก้ไข  ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา