กาแฟ 6 หมื่นล้านคึกคัก UCC เปิดเกม ปั้นแบรนด์ เจาะนักดื่มไทย 

23 ก.พ. 2564 | 02:00 น.
836

ตลาดกาแฟ 6 หมื่นล้านโตสวนโควิด พบตัวเลขการดื่มในบ้านพุ่งกว่า 10% ขณะที่นอกบ้านทรุดยาวตั้งแต่ล็อกดาวน์จนปัจจุบัน “UCC” ชูจุดขายวัฒนธรรมญี่ปุ่น พร้อมเดินหน้าทำตลาด ปั้นแบรนด์กาแฟ-ร้านกาแฟ ขยายฐานนักดื่มไทย 

ธุรกิจกาแฟ นับเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง เพราะแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เฉกเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ แต่ยังคงรักษาอัตราการเติบโตได้ดี โดยพบว่าในปี 2563 ตลาดกาแฟในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดกาแฟที่รับประทานในบ้าน 3.3 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 10.7% และตลาดกาแฟที่รับประทานนอกบ้าน 2.7 หมื่นล้านบาท เติบโตลดลง 30-40% และลดลงกว่า 50% ในช่วงล็อกดาวน์

อย่างไรก็ดี การเติบโตต่อเนื่องในภาวะปกติเฉลี่ย 5% ต่อปี ทำให้ “ธุรกิจกาแฟ” ยังหอมหวน มีผู้ประกอบการในระดับบน กลาง และล่างเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ขณะที่ในระดับพรีเมี่ยม ที่แม้ตลาดนี้จะถูกครอบครองโดยแบรนด์ดังอย่าง“สตาร์บัคส์” ที่ล่าสุดเพิ่งเปิดสาขาลำดับที่ 417 “สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ แอท ไอคอนสยาม” สาขาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ก็ยังมีช่องว่างทางการตลาด ที่สามารถขยายและสร้างรายได้ได้ โดยเฉพาะแบรนด์ “UCC” แบรนด์กาแฟสายพันธุ์ญี่ปุ่น ที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี ที่วันนี้พร้อมเข้าสู่สมรภูมิ 6 หมื่นล้านบาทนี้อย่างเต็มตัว

ยุทธศาสตร์ ucc

นายโนบูโอะ คิโนะชิตะ ประธานบริษัท ยู ซี ซี อูเอะชิม่า คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ด้วยศักยภาพของตลาดกาแฟในประเทศไทยยังคงมีอัตราการเติบโต 5% ต่อปี โดย 95% เป็นการบริโภคกาแฟสำเร็จรูป ขณะที่อีก 5% เป็นการบริโภคกาแฟสด ซึ่งเติบโตในระดับ 2 หลักทุกปีและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมองเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้ ยู ซี ซี อูเอะชิม่า คอฟฟี่ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟครบวงจร ตั้งแต่การปลูกโดยมีแหล่งปลูกเป็นของตัวเองใน ฮาวายและจาไมก้า โรงงานคั่วกาแฟ ผลิตกาแฟสำเร็จรูป กาแฟพร้อมดื่มระดับพรีเมียม รวมถึงประกอบธุรกิจร้านคาเฟ่ทั่วประเทศญี่ปุ่น กว่า 600สาขา ส่งผลให้UCC มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 90% ครองอันดับ1 ตลาดกาแฟของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญในการรุกตลาดเมืองไทย

UCC Coffee Roastery

โดยปัจจุบันยู ซี ซีฯ ดำเนินธุรกิจ 3 รูปแบบในเมืองไทย ประกอบไปด้วย

1. การนำเข้าและจัดจำหน่ายกาแฟ ภายใต้แบรนด์ “UCC” ซึ่งมีมากกว่า 12 รายการ โดยวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและโมเดิร์นเทรดชั้นนำ

2. การผลิตและจัดจำหน่ายกาแฟ ภายใต้แบรนด์ “UCC Roast Master products” ซึ่งใช้วิธีการคั่วกาแฟ 3 แบบ ได้แก่ กาแฟคั่วบด, กาแฟคั่วชนิดเมล็ด และกาแฟดริป จำนวน 9 รายการ เพื่อปรับรสชาติให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น เพราะคนไทยคุ้นชินกับรสชาติกาแฟที่เข้ม ซึ่งเป็นผลมาจากการดื่มกาแฟที่ชงด้วยเครื่องเอสเพรสโซ่ วางจำหน่ายซูเปอร์มาร์เก็ต และโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ

นอกจากนี้บริษัทได้ลงทุนสร้างโรงงานที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตซึ่งมีแผนที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันจะนำเข้าผลิตภัณฑ์ Made in Japanในสัดส่วน 65% และผลิตในประเทศไทย 35% แต่ในอนาคต ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในไทยจะมีสัดส่วนที่สูงกว่า เพราะรสชาติตรงความนิยมของคนไทย และราคาสมเหตุสมผล เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าทั้ง Business to Business (B2B) และ Business to Customer (B2C)

โนบูโอะ คิโนะชิตะ

“วันนี้ UCC มีสัดส่วนการขายแบบ B2C เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่คนอยู่บ้านมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด ขณะเดียวกันสัดส่วนการขาย B2B กลับลดลง เพราะร้านกาแฟไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามนโยบายของภาครัฐ อย่างไรก็ตามสัดส่วนรายได้ของ UCC ยังคงมาจาก B2B 70% และ B2C 30%”

3. ธุรกิจร้านกาแฟครบวงจร ภายใต้ชื่อ “UCC Coffee Roastery” ปัจจุบันเปิดให้บริการชั้น M ศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าทั้งในส่วนของของ B2B และ B2C โดยมีการเติบโตคงที่ 10-15% ต่อปี และที่นี่เป็นร้าน UCC Concept Store แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแผนขยายอีก 2 สาขาในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นประเทศอะไร

UCC Coffee Roastery

โดยจุดเด่นของ UCC Coffee Roastery คือการนำเสนอวัฒนธรรมการดื่มกาแฟแบบญี่ปุ่น ซึ่งมีความใกล้เคียงกับเทรนด์การดื่มกาแฟยุคใหม่ที่มองหาความพิถีพิถันในการชงกาแฟและการดื่มกาแฟมากขึ้น โดยลูกค้าสามารถเลือกกาแฟจากหลากหลายสายพันธุ์และพื้นที่เพาะปลูกจากทั่วโลกรวมทั้งวิธีการชงในแบบที่ชื่นชอบ ทั้งในแบบ Hand drip (pour-over), Siphon, Water drip, Ice brewed coffee, French Press, และ Espresso เพื่อให้ได้กาแฟที่พิเศษสุด

นอกจากกาแฟหลากหลายรสชาติ รวมทั้งเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอลล์แล้ว UCC Coffee Roastery ยังเป็นพื้นที่รองรับธุรกิจ B2B ของบริษัท ในการคำปรึกษาเกี่ยวกับการทำธุรกิจร้านกาแฟให้กับพร์าทเนอร์ หรือคนที่สนใจในการทำธุรกิจกาแฟ โดยจัดโซน “Coffee Roasting Experience” สำหรับจัดแสดง Aremde Nexus One นวัตกรรมเครื่องชงกาแฟเอสเปรสโซ และเครื่องคั่วกาแฟอัจฉริยะ Loring smart roaster รวมทั้งโซลูชั่นอื่นๆที่ครอบคลุมธุรกิจกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟรสชาติต่าง ๆ เมล็ดกาแฟจากแหล่งเพาะปลูกที่หลากหลาย เทคโนโลยีการคั่วกาแฟ และเทคนิคการชงกาแฟที่หลากหลาย

UCC Roast Master products

“ธุรกิจร้านกาแฟมีการแข่งขันสูง เพราะมีการเติบโตต่อเนื่อง ร้านกาแฟในตลาดต้องมีการปรับตัวเพิ่มสีสัน มีออฟชั่นใหม่ๆให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์โควิด ซึ่งไม่ไช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นแต่ในประเทศญี่ปุ่นก็เจอผลกระทบจากโควิดเช่นกัน เราเรียนรู้แล้วว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร เพราะความต้องการกาแฟไม่ได้ลดน้อยลง แต่เปลี่ยนจากดื่มที่ร้านเป็นดื่มที่บ้านแทน ในปีนี้เราจะกลับมาทำการตลาดอย่างจริงจัง ลงทุนในสื่อโฆษณา ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และขยายช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค” 

ที่มา : หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,655 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564