ห้ามไม่ได้จริงๆ "ชาวนา" ปลูกข้าวเกินแผนพุ่ง 2.6 ล้านไร่

14 ม.ค. 2564 | 15:35 น.
4.3 k

กอนช. เผย 38 จังหวัด ต้าน ชาวนาไม่อยู่ ปลูกข้าวเกินแผนกว่า 2.6 ล้านไร่  ลาก 10 อ่างใหญ่ จ่ายน้ำเกินแผน ผวาแห้งขอดก่อนฝนมา

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผย ว่า ปัจจุบันผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง สะสมแล้วรวม 3,603 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31% ของแผน โดยพบว่ามีอ่างเก็บน้ำถึง 10 แห่ง ภาคเหนือ มี 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกิ่วคอหมา 2.เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 3.เขื่อนกิ่วลม 4.เขื่อนแม่มอก 5.เขื่อนสิริกิติ์ 6.เขื่อนทับเสลา 7.เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนน้ำอูน และ ภาคกลาง จำนวน  1 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ได้มีการจัดสรรน้ำเกินแผน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนตลอดฤดูแล้งนี้ถึงต้นฤดูฝนหน้าด้วย


 

ชาวนา ปลูกข้าวเกินแผน

 

ขณะที่การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่าปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีจำนวน 4.55 ล้านไร่ จากแผน 5.64 ล้านไร่ โดยมีจังหวัดที่เพาะปลูกนารอบที่ 2 มากกว่าแผนแล้ว 29 จังหวัด พื้นที่ 2.44 ล้านไร่ นำโด่งสูงสูด จังหวัดสุพรรณบุรี ตามมาด้วย จังหวัดนครนายก  และปราจีนบุรี ตามลำดับ  ส่วนนอกเขตชลประทาน มีอยู่ 9 จังหวัด จำนวนกว่า 2.5 แสนไร่  สูงสุด จังหวัดนครสวรรค์ ตามมาด้วยจังหวัดพิจิตร ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีมาตรการควบคุมการเพาะปลูกไม่ให้ขยายวงกว้างให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

 

การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ แม่น้ำสายหลัก 4 สาย ซึ่ง กอนช.ได้ติดตามเฝ้าระวังพร้อมมีมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณภาพน้ำประปาเพื่อการบริโภคและการเกษตรของประชาชน โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำทะลุหนุนสูงที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในช่วงกลางเดือนนี้

 

ที่สำคัญได้เน้นย้ำหน่วยงานภายใน กอนช.เร่งสร้างการรับรู้ความก้าวหน้าตาม 9 มาตรการหลักให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือป้องกันผลกระทบช่วงฤดูแล้งเป็นไปตามแผนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนที่ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผน ได้มอบหมายให้หน่วยงานเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว