เดินหน้าไฮสปีด ไทย-จีน ช่วง 2 ชงครม.อนุมัติ-เวนคืนที่ปี 64

05 ม.ค. 2564 | 03:00 น.
2.9 k

รฟท. ร่วมบริษัทที่ปรึกษาโครงการเปิดเวทีรับฟังความเห็น เดินหน้าสรุปผลศึกษารถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 2 โคราช-หนองคาย 2.5 แสนล้าน เชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน พร้อมเสนอครม.อนุมัติ-ออกพ.ร.ฎ.เวนคืนภายใน 2564 ให้ทันเปิดเดินรถ 2572

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายปี 2563 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยบริษัทที่ปรึกษา เดินสายเปิดประชุมรับฟังความเห็นประชาชนต่อโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค เส้นทางกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 2 ตามแนวสายทาง วันที่ 22-25 ธันวาคม ที่นครราชสีมา  ขอนแก่น อุดรธานี  และหนองคาย

 

เดินหน้าไฮสปีด ไทย-จีน ช่วง 2  ชงครม.อนุมัติ-เวนคืนที่ปี 64

เป็นการประชุมครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอ ผลการศึกษาของโครงการ ผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากที่ได้รับฟังข้อเสนอในการประชุมครั้งแรก พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

 

รายละเอียดโครงการช่วงนี้ ระยะทางรวม 356 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟระดับพื้น 185 กิโลเมตร และเป็นทางรถไฟยกระดับระยะทาง 171 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนประมาณ 250,000 ล้านบาท มีสถานีรถไฟทั้งสิ้น 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย

  เดินหน้าไฮสปีด ไทย-จีน ช่วง 2  ชงครม.อนุมัติ-เวนคืนที่ปี 64

มีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนคร ศรีอยุธยา และที่นาทา จ.หนองคาย พร้อมด้วยหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จ.ขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จ.อุดรธานี และสถานีนาทา จ.หนองคาย มีจุดย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) 1 แห่ง ที่นาทา จ.หนองคาย 

 

ใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่งผลให้การเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงหนองคายใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที 

 

ด้านผลการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมการพัฒนาเฉพาะช่วงนครราชสีมา-หนองคาย พบว่ามีความเหมาะสมคุ้มค่าโดยคิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 11.24% ส่วนผลวิเคราะห์ ความเหมาะสมการพัฒนาทั้ง 2 ระยะ (กรุง เทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) คิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.10 % 

เดินหน้าไฮสปีด ไทย-จีน ช่วง 2  ชงครม.อนุมัติ-เวนคืนที่ปี 64

ขั้นตอนหลังศึกษาโครงการแล้วเสร็จ รฟท.จะเริ่มดำเนินการขออนุมัติดำเนินโครงการ และออกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในปี 2564 จากนั้นจะดำเนินการประกวดราคา สำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ในปี 2565 โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 48 เดือน จากนั้นจึงเป็นงานติดตั้งระบบ โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 ใช้ระยะเวลาการดำเนินการ 66 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2572 

 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,641 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2564