กมธ.สอบ “เฉลิมชัย” ล็อกโควตาแม่ไก่ไข่ 16 ราย เรียกชี้แจง หลังปีใหม่

26 ธ.ค. 2563 | 07:00 น.
2.3 k

กมธ.ฯ เรียก “เฉลิมชัย” ชี้แจง ม.ค. 64 " 16 ราย แก้ผูกขาดโควตาพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่" พร้อมสั่งสอบขายพ่อแม่พันธุ์พ่วงอาหารสัตว์จริงหรือไม่ ขณะเกษตรกร 11 ราย เตรียมร้องศาลปกครองขอนำเข้าเอง ช่วยลดต้นทุน

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (P.S.) กรณีมีกลุ่มเกษตรกร มาขอแบ่งปันโควตานำเข้าจาก 16 บริษัท จำนวน 4.39 แสนตัว ตามแผนโควตาที่ขอนำเข้า P.S. ในปี 2564  (กราฟิกประกอบ) โดยทาง กมธ.ได้เชิญผู้แทนกรมปศุสัตว์ และผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมาและมีความคืบหน้าตามลำดับ

 

ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ

 

 

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การพิจารณาการจัดสรรโควตา และการบริหารจัดการพ่อแม่พันธุ์ไข่ไก่ ทั้ง 2 ส่วนนี้ มีบอร์ดบริหารโดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด จะคุมปริมาณไข่ไก่ให้สมดุลกับผู้บริโภค เพื่อไม่ให้ไข่ไก่ราคาตกต่ำ หรือราคาแพงจนเกินไป ในส่วนของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่รายกลางและรายย่อยที่มายื่นหนังสือเพื่อขอแบ่งปันโควตานั้น ทาง กมธ. อยู่ระหว่างการเชิญประธานเอ้กบอร์ดคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน) มาร่วมประชุมในเรื่องนี้ คาดหลังปีใหม่ ภายในเดือนมกราคม 2564 ทั้งนี้เพื่อพิจารณา เนื่องจากไม่อยากให้มีการผูกขาดเฉพาะรายเดิม หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อผู้เลี้ยงไก่ไข่ เพราะอยากจะให้กระจายตามความต้องการของผู้เลี้ยง รวมถึงการตรวจสอบบริษัทผู้ผลิตพ่อแม่พันธุ์ว่ามีการจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์พ่วงอาหารสัตว์จริงหรือไม่

 

 

กมธ.สอบ “เฉลิมชัย” ล็อกโควตาแม่ไก่ไข่ 16 ราย เรียกชี้แจง หลังปีใหม่

 

 

 


 

 

 

วีระกร คำประกอบ

 

สอดคล้องกับนายวีระกร   คำประกอบ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม ที่กล่าวว่า การบริหารพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ขึ้นอยู่กับเอ้กบอร์ด ก็เข้าใจ แต่การไปกำหนดให้จัดสรรโควตาแค่ 16 บริษัท เพื่อผลิตลูกไก่จำหน่าย โดยส่วนใหญ่จะขายพ่วงอาหารสัตว์ด้วย คล้ายกับซื้อเหล้าพ่วงเบียร์ มีหลายคนที่เห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะอาจจะเห็นว่าการผลิตอาหารสัตว์เองอาจจะถูกกว่าการซื้อกับบริษัท ดังนั้นในความคิดเห็นของ กมธ. อยากให้เอ้กบอร์ดทบทวน ถ้าเป็นไปได้ในโควตาเดิมที่มีอยู่แล้ว ควรจะลองพิจารณาดู ถ้าเกลี่ยโควตาแต่ละบริษัทโดยเอามาเฉลี่ยให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อผลิตเองใช้เองในกลุ่มที่มี 11 สหกรณ์/บริษัท ซึ่งต่อไปเกษตรกรจะได้ไม่ต้องถูกบังคับให้ซื้อพ่วงอาหารสัตว์เช่นในอดีตที่ผ่านมา

 

ชัยพร สีถัน

 

นายชัยพร สีถัน ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่  11 ราย  กล่าวว่า ได้มีโควตาที่จะขอนำเข้าเอง กว่า 7.6 หมื่นตัว และเตรียมจะไปฟ้องศาลปกครองกลาง เรื่องการผูกขาดทางการค้า และเอื้อประโยชน์ให้กับ 16 บริษัท โดยมีทนายที่เสนอตัวเข้ามาช่วย เป็นทนายที่เคยช่วยนายนรสีห์ ตระกูลช่าง ประธานกรรมการ บริษัท เอ เอฟ อี จำกัด ผู้ฟ้อง เอ้กบอร์ด ปี 2553 กรณีทำหน้าที่มิชอบด้วยกฎหมายที่กำหนดโควตานำเข้า ซึ่งขณะนี้เรื่องนี้ยังอยู่ในศาล จะนำเรื่องนี้เพิ่มเติมแนบท้ายด้วย โดยที่ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่

 

 

อนึ่ง กรมปศุสัตว์เปิดแผนนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ในปี 2564 จำนวน 4.39 แสนตัว ผู้นำเข้ามากสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ, บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด (บจก.) เครือเบทาโกร, บจก.บริษัท อรรณพฟาร์มบ้านนา,บจก.แหลมทองฟาร์ม, บจก.ฟาร์มไก่ไข่พันธุ์เกิดเจริญ และ บจก.เอเป็กซ์ บรีดเดอร์สหฟาร์ม ตามลำดับ

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,638 หน้า 9 วันที่ 24 - 25 ธันวาคม 2563