‘ผูกขาด-ถอนทุน’ปมร้อน เขย่า“ซีพี”ควบรวมโลตัส 

10 ธ.ค. 2563 | 18:21 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2564 | 22:29 น.

เปิดมุมมอง "นักวิชาการ" หลังกขค. ไฟเขียวกลุ่มซีพี ควบรวมเทสโก้ โลตัส จะเป็นอย่างไร

มติ 4 ต่อ 3 ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (บอร์ด กขค.) อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้กลุ่มซีพีควบรวมกับเทสโก้ โลตัสได้สำเร็จ แม้จะมีเงื่อนไขให้กลุ่มซีพี ต้องปฏิบัติตาม 7 ข้อ แต่ก็ไม่อาจลดทอนกระแสสังคม และเสียงค้านในประเด็นการมีอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดทางการค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้าที่เป็นซัพพลายเออร์และผู้ค้ารายย่อย รวมถึงผู้บริโภค แต่มีอีกหนึ่งมุมมองที่น่าจับตาคือ “นักวิชาการ

 

ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การอนุญาตให้รวมธุรกิจครั้งนี้ ในระยะสั้นอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบ แต่ระยะยาว คือ สงครามราคาจะเกิดขึ้นและรุนแรงกว่าปัจจุบัน

 

 

‘ผูกขาด-ถอนทุน’ปมร้อน เขย่า“ซีพี”ควบรวมโลตัส 

 

“หลังควบรวมย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง เพราะซีพีถือเป็นธุรกิจครบวงจร ย่อมได้เปรียบเรื่องของต้นทุนและอำนาจต่อรอง แน่นอนว่าซัพพลายเออร์จะได้รับผลกระทบถูกลดทอนไอเท็มสินค้าให้น้อยลง และโอกาสที่กลุ่มซีพี จะผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ก็จะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการครอสสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ไปจำหน่ายยังสาขาในเครือ เช่น การนำแบรนด์แอร์โร ของแม็คโคร มาวางจำหน่ายในเซเว่นฯ หรือเทสโก้ โลตัส เป็นต้น”

 

ขณะที่มุมมองของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนให้ฟังต่อว่า การควบรวมย่อมทำให้การแข่งขันลดลงแน่นอน แต่ที่ต้องจับตาดูมากที่สุดคือ “ซีพี” เนื่องจากเป็นผู้ออกมาประกาศว่ากิจการนี้เคยเป็นของเขา และอยากจะได้กลับมา ดังนั้นในวันที่ประมูลเขาก็ให้มากที่สุดจริงๆทำให้ต้องนำไปคิดด้วยว่าผู้ที่มีความเต็มใจจะจ่ายให้เยอะขนาดนี้ เขาก็จะคิดว่าเขาสามารถที่จะถอนทุนคืนได้เยอะขนาดนั้นเช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดอาณาจักรค้าปลีก 2 เจ้าสัว “ธนินท์-เจริญ”

จี้กขค. สรุปคำวินิจฉัยกลาง ‘ซีพี’ควบ‘โลตัส’

ค้าปลีกเดือด “ธนินท์-เจริญ” เปิดศึก สาดสงครามราคา-โชห่วยกระอัก

การถอนทุนคืนนี้หากผ่านการมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเช่น ถ้าเขามีธุรกิจรายล้อมที่สามารถจะทำให้ลดต้นทุน สามารถที่จะบริหารงานโดยต้นทุนที่ถูกลงอาจจะทำให้ราคาสินค้าถูกลง และมีความหลากหลายมากขึ้นก็เป็นไปได้ แต่ก็มีวิธีการถอนทุนคืนวิธีที่ 2 คือ ดึงมาจากผู้บริโภคและซัพพลายเออร์ ผ่านการเพิ่มราคาสินค้าหรือว่าลดคุณภาพ การให้บริการ ลดความหลากหลาย บริษัทก็สามารถถอนทุน

 

วันนี้เมื่อซีพีถือครองกิจการรายเดียวและสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะไม่ว่าจะตีความว่าขอบเขตตลาดเป็นอย่างไร จะเห็นว่าไม่ว่ากี่เซ็กเม้นท์ของค้าปลีกที่เป็นโมเดิร์น เทรด ก็อยู่ในมือของของกลุ่มบริษัทเดียวเมื่อเขามีอำนาจ เขาจะไม่ใช้อำนาจก็ได้นะ แต่ว่าก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะต้องไปจับตามองว่ากลุ่มบริษัทนี้ทำอะไรที่เป็นการขัดขวางการแข่งขันหรือว่าเป็นการใช้อำนาจผูกขาดในทางที่ไม่สมควรหรือไม่

‘ผูกขาด-ถอนทุน’ปมร้อน เขย่า“ซีพี”ควบรวมโลตัส 

“พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเปลี่ยนไปตลอดเวลา การกำหนดขอบเขตตลาดจึงจำเป็นที่จะต้องมีการอัพเดทบ่อยๆเช่น ต่างประเทศจะมีทีมมอนิเตอร์ เลยว่าตลาดนี้ผู้เล่นเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร เพื่อจะได้ไปกำกับดูแลได้ว่า น่าจะลดการแข่งขันหรือว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและซัพพลายเออร์อย่างไร”

 

ในมุมมองด้านกฎหมายซึ่งแม้กขค. จะวางเงื่อนไข 7 ข้อเพื่อป้องกันการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาดลดแรงเสียดทานให้กับคู่ค้า ซัพพลายเออร์ รวมถึงผู้ผลิตรายย่อย แต่ในระยะยาวปัญหาย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่ง “อาจารย์กนกนัย ถาวรพานิช” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เงื่อนไขทั้ง 7 ข้อที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าฯ กำหนดออกมาเพื่อใช้ควบคุมการควบรวมครั้งนี้ ถ้าพยากรณ์ว่า การแข่งขันอาจจะถูกกระทบอย่างมากจึงต้องวางเงื่อนไข ซึ่งมองได้ใน 2 ส่วนคือ เงื่อนไขในทางพฤติกรรมและเงื่อนไขในทางโครงสร้าง ซึ่งเงื่อนไขในทางโครงสร้างผู้ตรวจสอบจำเป็นต้องสั่งให้ลดขนาดการควบรวมหรือว่าจับแยกบางกิจการที่เกี่ยวข้องกับผู้ควบรวมนี้ขายให้คู่แข่ง หรือไปขายให้คนอื่นเพื่อลดขนาดของการควบรวมลง

 

แต่เงื่อนไขทั้ง 7 ข้อเป็นเงื่อนไขทางพฤติกรรมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการให้ซื้อสินค้าของ SME เพิ่มขึ้น การห้ามแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ให้คงสัญญากับคู่ค้าเอาไว้เช่นเดิม ซึ่งการควบคุมแบบนี้คุณต้องตอบให้ได้ว่าเงื่อนไขจะช่วยรักษาการแข่งขันหลังการควบรวมให้ได้ หรืออย่างน้อยไม่แย่ไปกว่าก่อนการแข่งขันการควบรวมได้หรือไม่

‘ผูกขาด-ถอนทุน’ปมร้อน เขย่า“ซีพี”ควบรวมโลตัส 

“การควบรวมค้าปลีกกว่า 2,000 สาขาย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ค้า ผู้ผลิต ผู้บริโภค ทำไมผู้ตรวจสอบไม่เอาเงื่อนไขก่อนจะอนุมัติถามสังคมก่อนอย่างน้อยเก็บข้อมูลก่อน 2 สัปดาห์ ให้สังคมลองพิจารณาผลลัพธ์อาจจะไม่ได้แย่เหมือนทุกวันนี้ก็ได้”

 

แม้กขค. จะไฟเขียวให้ทั้งสองฝ่ายควบรวมกันได้ แต่ชั่วโมงนี้สังคมต่างจับตากลุ่มซีพี ในฐานะเจ้าของธุรกิจจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,634 วันที่ 10 - 12 ธันวาคม พ.ศ. 2563