เร่งกำจัด “กาฬโรคม้า” พ้นไทย

09 ต.ค. 2563 | 19:01 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์เร่งหารือติดตามงานเพื่อขอคืนสภาพปลอดโรค AHS ของประเทศไทยจาก OIE โดยเร็วที่สุด เน้นสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องในทิศทางเดียวกัน มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อติดตามการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์เกี่ยวกับโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness: AHS) เพื่อขอคืนสภาพปลอดโรค AHS จากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) โดยเร็วที่สุด พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ผู้แทนจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ผู้แทนจากกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

 

สืบเนื่องจากการเกิดโรคอุบัติใหม่ โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness: AHS) ในประเทศไทย กรมปศุสัตว์ได้รับแจ้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 และได้รายงานการเกิดโรค AHS ไปยัง OIE ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 และกรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค AHS โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (Public Private Partnerships: PPP) ตามคำแนะนำของ OIE และได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ระหว่างกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 16 หน่วยงาน เพื่อร่วมมือเร่งกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้หมดไปและสร้างสถานภาพปลอดโรคภายใต้แผนปฏิบัติการการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเพื่อคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ของประเทศไทยโดยเร็ว

 

เร่งกำจัด “กาฬโรคม้า” พ้นไทย

โดยแนวทางดำเนินการประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะเผชิญเหตุ ระยะที่ 2 ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติซ้ำของโรค และระยะที่ 3 ขอคืนสถานภาพรับรองการปลอดโรค AHS ในประเทศไทยจาก OIE โดยตามข้อกำหนดของ OIE (OIE Terrestrial Animal Health Standards Commission, 2018) ระบุเงื่อนไขในการขอคืนสถานภาพปลอดโรคจะต้องไม่พบม้าป่วยใหม่เพิ่มเติมในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 ปี มีระบบการเฝ้าระวังด้วยตัวบ่งชี้ (sentinel) แมลงพาหะ (vector) และต้องมีการหยุดการใช้วัคซีนภายในประเทศก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะสามารถดำเนินการขอคืนสถานะปลอดโรคนี้จาก OIE ได้

เร่งกำจัด “กาฬโรคม้า” พ้นไทย

 

เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมเห็นควรให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเป็นระยะๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ให้มีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องในทิศทางเดียวกัน เน้นความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยมาตรการและการดำเนินการต่างๆ ที่บังคับใช้จะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเกิดโรคและผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้กำหนดให้มีการจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (stakeholders) เพื่ออัฟเดตสถานการณ์ มาตรการในการดำเนินการและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพิจารณาหารือในการขอคืนสภาพปลอดโรค AHS ของประเทศไทยจาก OIE ในสัปดาห์หน้าต่อไป