กรมทรัพย์ฯผนึกดีอีเอส สั่งปิดกั้นเว็บละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

07 ส.ค. 2563 | 21:31 น.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา (กรมทรัพย์ฯ) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกคำสั่งเพื่อหยุดยั้งเว็ปไซต์ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ ผลสำรวจล่าสุดพบว่าคนไทยกว่า 53% เข้าเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือโหลดบิททอร์เรนต์

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์  และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เดินหน้าร่วมมือปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20(3) พร้อมออกคำสั่งให้ผู้บริการอินเตอร์เน็ต ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนชื่อโดเมนหรือทำการเปลี่ยนเส้นทางไปยังเว็บไซต์ อื่นภายใต้คำสั่งศาลฉบับเดิม โดย ISP ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ภายใน 15 วันหากเกินระยะเวลาที่กำหนดอาจต้องระวางโทษปรับตามมาตรา 27 ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ

ขณะที่ผลการศึกษาพฤติกรรมของการบริโภคคอนเทนต์ออนไลน์ล่าสุดพบว่า คนไทยที่ดูคอนเทนต์ออนไลน์กว่าครึ่ง(53%)  เข้าเว็บดูเว็บไซต์สตรีมมิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งภาพยนตร์ ซีรี่ส์ การถ่ายทอดสดฟุตบอล หรือเวปทอร์เรนต์ต่างๆ

การสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจากสมาคมต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์แห่งเอเชีย (CAP) และดำเนินการโดย YouGov พบว่า 43% ของผู้บริโภคใช้อุปกรณ์สตรีมมิ่งที่ผิดกฎหมาย (Illicit Streaming Device: ISD) เช่น กล่องแอนดรอยด์บ็อกซ์ผ่านระบบอินเตอร์เนตเพื่อรับชมคอนเทนต์รายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ กล่องทีวีดังกล่าว ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงช่องรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์แบบออนดีมานด์ โดยมักมีการจ่ายค่าสมาชิกราคาถูก

 

ผู้บริโภคจำนวน 53% ยอมรับว่าได้เข้าดูเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือทอร์เรนต์ไซต์ 66% ระบุว่าได้ยกเลิกการบอกรับสมาชิกบางส่วนหรือทั้งหมดของผู้ให้บริการแบบถูกลิขสิทธิ์

กรมทรัพย์ฯผนึกดีอีเอส สั่งปิดกั้นเว็บละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

นายพิเศษ จียาศักดิ์ อุปนายกสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย (IPAT) ให้ความเห็นว่า ความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ไทยนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ความเสียหายต่อผู้บริโภคหรือผู้ชมเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นแหล่งแพร่มัลแวร์และไวรัสที่มากับการรับชม เช่น สปายแวร์ ผู้บริโภคที่ซื้อกล่องแอนดรอยด์ผิดกฏหมาย ISD หรือเข้าเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ก็เท่ากับสนับสนุนเงินทุนให้กับกลุ่มอาชญากรรม รวมถึงอาจต้องเสียเงินและเสียเวลาไปฟรีๆ หากเว็บไซต์นั้นถูกปิดกั้น

Neil Gane ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพันธมิตรต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของ AVIA (CAP) แสดงความคิดเห็นว่า ขอยกย่องกรมทรัพย์สินทางปัญญา (กรมทรัพย์ฯ) และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำหรับความพยายามในการปิดกั้นเว็บไซต์ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งหากนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการหันกลับมาใช้บริการจากผู้ให้บริการที่ถูกลิขสิทธิ์ 

การปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขัดขวางรายได้ผิดกฎหมายที่ถูกนำไปใช้ในขบวนการอาชญากรรม หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างประเทศอินโดนีเซีย ที่ปริมาณการเข้าชมไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงถึง 68% ในระยะเวลาน้อยกว่า 12 เดือน

จากการบังคับใช้มาตรการการปิดกั้นเว็บไซต์อย่างมีประสิทธิภาพทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นผู้นำตลาดด้านการปกป้องทรัพย์สิน ทางปัญญาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งเสริมการเติบโตของบริการที่ถูกกฎหมาย การเข้าชมเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง 68% (สิงหาคม 2562 ถึง มิถุนายน 2563) และทำให้การเข้าชมเว็บไซต์วิดีโอที่ถูกกฎหมายเพิ่มขึ้นถึง 18% ในช่วงเวลาเดียวกัน