ปล่อยผี 13 สมุนไพร เปิดทางนำเข้า จับตารง.ใหม่แห่แจ้งเกิด

16 ก.ค. 2563 | 15:05 น.
5.4 k

ผู้ค้าสารชี้กระทรวงเกษตรฯปลดล็อกพืชสมุนไพร 13 ชนิด จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่ 1 ปล่อยผีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จับตาโรงงานผลิตสารทดแทนสารเคมีแห่แจ้งเกิด

ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2552 ประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช 13 ชนิดซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุม แมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่

 

สะเดา ชา/กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายยาก เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วัตถุอันตรายที่มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด) 

 

หลังมีประกาศฉบับนี้ได้ถูกภาคประชาชนร้องเรียนให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณายกเลิกให้ถอดพืชสมุนไพรข้างต้นออกจากการเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และประกาศฉบับนี้ได้ยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2538 ที่ประกาศให้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ให้ประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 แทน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

​​​​​​​

ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2556 ให้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม ฯลฯ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 อีกครั้ง ล่าสุด (13 ก.ค. 63) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้ปรับใหม่ให้เป็น “วัตถุอันตรายชนิดที่ 1” แทน โดยระบุมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนใช้สารสกัดจากพืชมาใช้ป้องกันกำจัดแมลง วัชพืช และโรคพืช ศัตรูพืชได้ด้วยตนเองนั้น

นายวีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อปรับวัตถุอันตรายจากชนิดที่ 2 (วัตถุอันตรายที่มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด) มาเป็นชนิดที่ 1 อาจเกิดผลตามมาคือมีการนำเข้าสินค้าที่มีสารสกัดจากพืชเข้ามาเพิ่มขึ้นเพราะไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องนำผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นพิษของสารนั้น

 

ต่างจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ต้องนำสารนั้นไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้ เพื่อให้ทราบว่าจะใช้อัตราที่เท่าไรถึงจะมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างจริง  เพียงแค่แจ้งให้กรมวิชาการรับทราบเท่านั้น ซึ่งคาดว่าในกลุ่มนี้เดิมที่มีผู้ค้าน้อยราย อาจจะเพิ่มจำนวนผู้ค้ามากขึ้น เนื่องจากปล่อยอิสระและจะเห็นโรงงานใหม่เกิดมากขึ้น จากสบช่องตลาดตรงนี้น่าจะเติบโตขึ้น หลังการแบน 2 สารเคมีเกษตร (มูลค่าตลาดสมุนไพรไทยปี 2562 อยู่ 18,200 ล้านบาท) 

 

“ผลของการแบน 2 สารเคมีคือพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมาเห็นชัดแล้วว่ามีของเถื่อนลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายขายให้กับเกษตรกร จากเป็นสินค้าต้องห้าม ราคาขายตามท้องตลาดสูงมาก เกษตรกรจึงหันไปใช้ของลักลอบกัน ตอนนี้คนดีค้าขายลำบาก”

 

ขณะที่นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย  กล่าวว่า วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือ 2 ไม่สามารถใช้บังคับได้กับเกษตรกร เมื่อปรับลดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1  ก็คือ นำไปใช้ได้อย่างอิสระ  สามารถจะไปสกัดสารได้ ความจริงแล้ว ขิง ข่า ตะไคร้หอม ใช้ไม่ได้จริง แต่ที่พอจะใช้ได้คือ สะเดา ส่วนขมิ้นป้องกันเชื้อรา ก่อนหน้าที่ควบ คุมไว้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เพื่อไม่ให้ใช้สุ่มสี่สุ่มห้าต้องขึ้นทะเบียนผ่านราชการ แต่จากนี้รัฐมนตรีต้องการปรับลดระดับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 พื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง ทำเป็นเรื่องใหญ่โตมาก 

 

“เป็นกรอบเก่า ที่ยกระดับในพืชสมุนไพรเหล่านี้ถ้านำไปประกอบในการทำสารชีวภาพ ไม่ใช่สารชีวภัณฑ์ ถ้าทำจะต้องมีสูตร ต้องหาค่าความเป็นพิษ เพราะในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ อาจมีสารพิษตัวใหม่ที่อันตรายยิ่งกว่าการใช้สารเคมี”

ปล่อยผี 13 สมุนไพร  เปิดทางนำเข้า  จับตารง.ใหม่แห่แจ้งเกิด

ด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด เป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์ทำเป็นสารสกัดเพื่อป้องกันกำจัดแมลง วัชพืชโรคพืช และศัตรูพืชได้ด้วยตนเองมานาน ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย ถึงมีก็น้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดผลตกค้างที่เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค สามารถหาได้เองจากในชุมชนหรือจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง

 

เช่น การนำไปตากแห้ง บ่ม สับ แล้วนำมาใช้เลย ดังนั้นไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน ไม่ต้องแจ้งว่ามีสารสำคัญในปริมาณเท่าไหร่ หรือใช้ในอัตราเท่าไร ซึ่งจะสะดวกกับเกษตรกรที่จะนำไปใช้หรือนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายด้วย ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งจัดทำข้อมูลเพื่อยกร่างปลกล็อกพืชสมุนไพร 13 ชนิดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้เสร็จโดยเร็ว

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,592 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563