โควิด-19 ดันออนไลน์พุ่ง ‘เซ็นทรัล’ โหม ออมนิแชนเนล

22 เม.ย. 2563 | 06:50 น.

เซ็นทรัลรีเทล เผยโควิด-19 ดันยอดขายออนไลน์ท็อปส์พุ่ง 200-300% ชงรัฐอุ้มผู้ประกอบการค้าปลีก&เซอร์วิส หวั่นกระทบตั้งแต่ปลายน้ำ-ต้นน้ำกว่า 10 ล้านคน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งเติบโตแบบสโลว์ดาวน์ต้องหยุดชะงักไป โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมาพบว่าภาพรวมของเซ็นทรัลรีเทล ซึ่งประกอบด้วยไทย เวียดนามและอิตาลี มีการเติบโตติดลบเป็นตัวเลข 1 หลัก จากการปิดให้บริการห้างเกือบทั้งหมด

ขณะที่ช่องทางออนไลน์พบว่ามีการเติบโตอย่างมาก เช่น ท็อปส์ ออนไลน์ พบว่ามีการเติบโต 200-300% จากเดิมที่มีสัดส่วนยอดขายออนไลน์ 1% เพิ่มขึ้นเป็น 3-4% ส่วนกลุ่ม non-food เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก มีส่วนแบ่งยอดขายออนไลน์จาก 10% เพิ่มขึ้นเป็น 15-20% ในปีนี้ ส่งผลให้ภาพรวมของสัดส่วนยอดขายออนไลน์ในไตรมาส 1 ของเซ็นทรัลรีเทล ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 5% และ 1% ในปี 2561

“ท็อปส์ ออนไลน์ อาจจะมีปัญหาในช่วงแรกที่ออร์เดอร์โถมเข้ามา และมีจุดจัดส่งสินค้าน้อยเพียงกว่า 20 จุด แต่ผ่านไป 1 สัปดาห์ก็สามารถแก้ปัญหาและสถานการณ์ได้ จนปัจจุบันมีจุดจัดส่งสินค้ากว่า 70 จุด ทำให้สามารถกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

ญนน์ โภคทรัพย์

 

เป็นสิ่งที่ดีเพราะเซ็นทรัลรีเทล ได้ริเริ่มทำออมนิแชนเนลก่อน ทำให้เมื่อเกิดปัญหาจึงสามารถมีบริการต่างๆ รองรับได้เร็ว ไม่ใช่แค่ช่องทางออนไลน์แต่ผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน จึงมีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นเช่น Chat & Shop, Click & Collect, drive thru เป็นต้น


 

อย่างไรก็ดีบริษัทคาดหวังว่าไตรมาส 2 สถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ต่างๆ จะดีขึ้น ทำให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ากลับมาเปิดให้บริการได้ในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งบริษัทเตรียมความพร้อมทั้งสุขภาพพนักงาน ความสะอาดของห้าง การจัดเว้นระยะห่างทางสังคม ในการกลับมาเปิดให้บริการในห้างสาขาต่างจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช ฯลฯ

นอกจากนี้ยังจัดเตรียมสินค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ จัดช่วงเวลาพิเศษให้กับผู้สูงอายุ คนพิการ ตั้งครรภ์ ฯลฯ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า หลังจากเปิดให้บริการ พื้นที่ในการใช้งานจะลดน้อยลง เช่น การจำกัดจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการลิฟต์ การเว้นระยะห่างของการใช้บันไดเลื่อน เป็นต้น

โควิด-19 ดันออนไลน์พุ่ง ‘เซ็นทรัล’ โหม ออมนิแชนเนล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากนำเสนอภาครัฐ คือการให้การสนับสนุนต่อผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกและบริการ (Retail&Service) เพราะผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้ตั้งแต่ปลายน้ำ-ต้นน้ำ มีอยู่กว่า 10 ล้านคนหากเกิดผลกระทบกับธุรกิจค้าปลีกและบริการ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้นภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนทั้งในด้านของภาษีการค้า ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจมีเงินสดในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรือจะเป็นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการก็ได้

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19-22 เมษายน 2563