เปิดใจ“วุฒิภูมิ จุฬางกูร”พลิกวิกฤตฟื้น“นกแอร์”

19 พ.ย. 2562 | 19:07 น.
9.5 k

         การขาดทุนปักโกรกของนกแอร์กว่า 7 พันกว่าล้านบาท รวมถึงปัญหาส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ  และการสู้ศึกการดำเนินธุรกิจในปีหน้าจะก้าวอย่างไร  อ่านได้จากการเปิดใจของ "นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK

เปิดใจ“วุฒิภูมิ จุฬางกูร”พลิกวิกฤตฟื้น“นกแอร์”

ทบทวนแผน3ปีใหม่

           ในขณะนี้นกแอร์ กำลังอยู่ระหว่างทบทวนแผนพลิกฟื้นธุรกิจในช่วง 3 ปีนี้ (ปี2563-2565) คาดว่าจะนำเสนอให้บอร์ดนกแอร์พิจารณาได้ในราวต้นเดือนธันวาคมนี้ หลังจากก่อนหน้านี้บอร์ดได้มอบหมายให้ผมมาปรับปรุงแผนใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่น้ำมันราคาลดลงและการแข็งค่าของเงินบาท  รวมถึงยังจะมีการทบทวนธุรกิจในช่วงระยะเวลา 10 ปีอีกด้วย
           เป้าหมายของการจัดทำแผนธุรกิจ3ปีข้างหน้านี้ คือ การทำให้นกแอร์ มีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเริ่มจากการทำให้นกแอร์
Break event ก่อน ทยอยลดการขาดทุนสะสมราว 7 พันกว่าล้านบาท เพื่อให้นกแอร์เติบโตและมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลังผมเข้ามาดูแลนกแอร์ได้ราว 4 เดือน เนื่องจากทางบ้านเห็นว่าผมอยู่ในหน้างานของหลายบริษัทในเครือที่เคยประสบปัญหาการขาดทุนมาก่อน ก็อยากให้ผมมาแก้ปัญหานกแอร์ และมองว่าหากเจ้าของบริหารเอง อำนาจการตัดสินจะเร็ว เห็นปัญหาและแก้ปัญหาได้เร็ว

สต็อคอะไหล่แก้ปัญหาดีเลย์
           ดังนั้นสิ่งแรกที่ผมทำคือเข้ามาดูงบการเงิน ดูสถานะของรายได้ จากนั้นก็เปรียบเทียบคู่แข่ง หาจุดเด่น-จุดด้อยของนกแอร์ ซึ่งเราก็พบว่าปัญหาของนกแอร์ว่าเมื่อก่อน ขาดสภาพคล่องด้านการเงิน นกแอร์ไม่มีเงินซื้ออะไหล่มาซ่อมเครื่องบิน ทำให้นกแอร์มีปัญหาเรื่องของการดีเลย์ เพราะต้องจอดเครื่องบินทิ้งไว้ หรือถ้าจะซ่อมก็ต้องรอสั่งอะไหล่ใช้เวลารร่วม 7-10 วัน แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังจากเรากู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่มา 3 พันล้านบาท  เราก็ลงทุนไปราว 100 ล้านบาทในการทำคลังสินค้าสต็อคอะไหล่ ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อเครื่องมีปัญหาก็แก้ไขได้ทันที
          ทำให้วันนี้นกแอร์สามารถทำการบินอยู่ในระดับ
On – time performance  ที่ 85% เทียบเท่ากับมาตรฐานการบินเหมือนสายการบินอื่นๆ จากสมัยก่อนที่นกแอร์ ทำได้ที่ 60%  ทั้งในช่วงต้นปีนกแอร์ นำเครื่องบินออกจากฝูงบินไป 3 ลำเนื่องจากเครื่องมีอายุมาก มีการทยอยหยุดบินเส้นทางบินที่มีดีมานต์ผู้โดยสารน้อยในช่วงโลว์ซีซัน เช่น น่าน ร้อยเอ็ด นครพนม เพิ่มการเปิดบินช่วงกลางคืน โดยบินไกลขึ้นไปต่างประเทศ เช่นการเปิดบินไปยังฮิโรชิมา ในวันที่18ธันวาคมนี้ หลังจากการเปิดบินไปยังเมืองกูวาฮาติ ประเทศอินเดีย รวมถึงการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเรื่องของการซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ได้เปลี่ยนคู่สัญญาใหม่จากลุฟท์ฮันซ่า เทคนิค มาเป็นSIA  ของสิงคโปร์ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงกว่า 10%

เปิดใจ“วุฒิภูมิ จุฬางกูร”พลิกวิกฤตฟื้น“นกแอร์”
          นี่เองจึงทำให้ผลประกอบการของนกแอร์ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ลดลงถึง50% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาส3 ปีนี้ ขาดทุน633 ล้านบาท ส่วนไตรมาส3 ปีก่อนขาดทุนอยู่ 1,105 ล้านบาท และหากรวมช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ นกแอร์ลดการขาดทุนลงกว่า 29% ประกอบกับ
แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส4ปีนี้ ที่พบว่ามียอดจองตั๋วโดยสารที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เราจึงคาดว่าในปี2562 บริษัทจะมีผลการขาดทุนลดลงจากปี2561 ที่ขาดทุนอยู่ 2.78 พันล้านบาท และแสดงให้เห็นว่าเราเดินถูกทาง ก็จะดำเนินการต่อไป

เหลือเงินกู้อีกพันกว่าล.
         ปัจจุบันนกแอร์ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากได้กู้เงิน 3 พันกว่าล้านบาทจากผู้ถือหุ้นใหญ่(จุฬางกูร) เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของนกแอร์ และส่วนหนึ่งก็ปล่อยกู้ให้นกสกู๊ตไป 200 ล้านบาท ผ่านบริษัทนกมั่งคั่ง จำกัด เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจของนกสกู๊ต ซึ่งเราก็ยังเหลือเงินอีก 1 พันกว่าล้านบาท ที่ก็เพียงพอในการใช้ดำเนินงานในระยะต่อไป เพราะยังไม่มีแผนลงทุนขนาดใหญ่ นอกเหนือจากการปรับปรุงระบบไอที ที่นกแอร์จะปรับปรุงเซิฟเวอร์ใหม่ เพื่อรองรับการให้บริการต่างๆที่รวดเร็วขึ้น
          ทิศทางของธุรกิจการบินในปีหน้ายังคงรุนแรงต่อเนื่องจากปีนี้ เพราะทุกสายการบินมีแผนเพิ่มจำนวนเครื่องบินเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งนกแอร์ก็ต้องเดินแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพตามที่วางไว้ โดยเป้าหมายของนกแอร์ เราวางตำแหน่งทางการตลาดว่าเป็น
Premium Budget Airline   โฟกัสการปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นและเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น
          ทั้งรายได้หลักจากการขายตั๋วเครื่องบิน ซึ่งไม่เกินไตรมาส2 ปีหน้า นกแอร์จะเพิ่มการขายขึ้นมาอีก 1 ชั้นโดยสารในบางเที่ยวบิน นำเซอร์วิสบางอย่างของฟูลเซอร์วิสมาใช้ เช่นรวมอาหาร น้ำหนักกระเป๋า เพราะนกแอร์บินระหว่างประเทศมากขึ้น ผู้โดยสารต้องการบริการเหล่านี้มากกว่าการบินเส้นทางบินในประเทศ ซึ่งนกแอร์ตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนเส้นทางบินต่างประเทศเป็น 30% จาก 20% ในปัจจุบัน เพื่อช่วยลดต้นทุน เนื่องจากจะทำให้เพิ่มอัตราการใช้เครื่องบิน (Utilization) เป็น 12 ชม./ลำ/วัน จาก 9 ชม./ลำ/วัน

เปิดใจ“วุฒิภูมิ จุฬางกูร”พลิกวิกฤตฟื้น“นกแอร์”

เพิ่มยอดขายผ่านธุรกิจจุฬางกูร
      รวมไปถึงอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในธุรกิจโรงแรม 2 ราย เพื่อร่วมกันจัดทำแพกเกจเดินทาง ซึ่งจะรวมค่าตั๋วโดยสาร โรงแรม และรถเช่า คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส1 ปีหน้า และจะผนึกพันธมิตร ร่วมมือการให้บริการผู้โดยสาร ในลักษณะ “Multi-City” เพื่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อเส้นทางบินของนกแอร์ โดยซื้อตั๋วตั้งแต่ต้นทาง
         ทั้งเราจะผนึกนกแอร์กับกลุ่มต่างๆที่ตระกูลจุฬางกูร ถือหุ้นอยู่ หรือมีความสัมพันธ์ หรือมีอำนาจบริหาร เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายของนกแอร์ให้เพิ่มมากขึ้น เช่นการร่วมมือกับร้านหนังสือซีเอ็ดที่ครอบครัวจุฬางกูรถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 48% เพื่อใช้เป็นช่องทางจำหน่ายตั๋วโดยสาของนกแอร์ โดยเฟสแรกจะเปิดขาย 10 สาขาในกรุงเทพก่อน คาดว่าเริ่มได้ในไตรมาส1ปีหน้า ก่อนจะกระจายไปตามหัวเมืองที่ปัจจุบันร้านซีเอ็ดมี 350 สาขาทั่วประเทศ การจัดกิจกรรม โปรโมชั่นแพ็คเกจขายผ่านบริษัทต่างๆในเครือซัมมิท เป็นต้น
         อีกทั้งในปีหน้า NOK มีแผนจะหันมาเพิ่มรายได้จากส่วนอื่นนอกเหนือจากรายได้จากตั๋วโดยสาร เช่นบริการขนส่งทางอากาศ (คาร์โก้) ขนส่งสัมภาระใต้ท้องเครื่อง การขายสินค้าบนเครื่องบินและเว็บไซต์ของนกแอร์  ซึ่งได้วางเป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 63-65) จะเพิ่มสัดส่วนรายได้อื่น ๆ ขึ้นมาเป็น 15%, 17% และ 20% ตามลำดับ จากปัจจุบันมีรายได้ในส่วนนี้อยู่ที่12% ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับสายการบินอื่นๆที่จะมีรายได้นส่วนนี้อยู่ราว20-30%

++ เช่าเครื่อง4ลำ-ดีเลย์ซื้อฝูงบิน6ลำ
           สำหรับการขยายฝูงบินของนกแอร์ ในเดือนพฤษศจิกายนนี้ จะรับมอบเครื่องบิน
โบอิ้ง 737-800 อีก 2 ลำ อายุเครื่องบินอยู่ที่ราว 9 ปี โดยเช่าระยะเวลา 5-7 ปีมาใช้ในการขยายธุรกิจของนกแอร์ ซึ่งจะทำให้สิ้นปีนี้จะมีฝูงบินมี 24 ลำ แบ่งเป็น โบอิ้ง 737-800 จำนวน 16 ลำและเครื่องบินใบพัด Q-400 จำนวน 8 ลำ  ส่วนในปี 63 จะรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 เพิ่มอีก 2 ลำในเดือน ส.ค.และเดือน ต.ค. ปีหน้า เพื่อรองรับการขยายเส้นทางบินใหม่

         ขณะที่แผนการซื้อเครื่องบินใหม่ของนกแอร์ ที่เราวางมัดจำไว้ก่อนหน้านี้ไว้แล้ว ว่าจะซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737MAX 8 จำนวน 6 ลำนั้น ตามแผนเดิมจะมีการรับมอบในปี 63 จำนวน 2 ลำและในปี 64 จำนวน 4 ลำ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับโบอิ้งขอเลื่อนการรับมอบออกไปก่อน เพราะต้องพิจารณาว่าผู้โดยสารเชื่อมั่นเครื่องบินรุ่นนี้หรือไม่หลังจากมีคำเตือนจากยบางหน่วยงานถึงปัญหาขัดข้องที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะพิจารณาเปลี่ยนรุ่นเพื่อความเหมาะสม  
 

เปิดจุดบินจีน-อินเดีย-ญี่ปุ่น

          แผนการเปิดจุดบินใหม่ในปีหน้า นกแอร์จะโฟกัสเส้นทางบินจีน อินเดีย และญี่ปุ่น โดยอยู่ระหว่างการศึกษาเปิดเส้นทางบินใหม่ ได้แก่ วิสาขาปัตนัมของอินเดีย, โอกินาว่าและคาโกชิม่าของญี่ปุ่น หลังจากปีนี้บริษัทจะเริ่มทำการบินในเส้นทางฮิโรชิมาของญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.ปีนี้
           การเปิดบินไปญี่ปุ่น นกแอร์ ได้รับการสนับสนุนจากสนามบินของญี่ปุ่น ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการขึ้นลงอากาศยานให้3 ปี และการสนับสนุนงบในการทำตลาดให้ด้วย เพื่อสนับสนุนให้เราเข้าไปเปิดบิน การเปิดจุดบินในญี่ปุ่นจะเน้นเมืองรองเป็นหลัก เพราะการแข่งขันไม่สูง อย่างการเปิดบินไปฮิโรชิ เราเห็นโอกาสบิสิเนสจากฝั่งญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทย เนื่องจากฮิโรชิมา มีกว่า 70 บริษัทที่มีสาขาในไทย แต่ปัจจุบันการบินมาไทยต้องใช้เวลากว่า 15 ชั่วโมง เพื่อไปขึ้นเครื่องที่ฟุกุโอกะ ส่วนการเดินทางออกจากไทยคนไทยก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นอยู่แล้ว   

เปิดใจ“วุฒิภูมิ จุฬางกูร”พลิกวิกฤตฟื้น“นกแอร์”           
          ในด้านเส้นทางบินจีนก็เพิ่มการขายการขายตั๋วโดยสารด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น จากเดิมขายแบบเช่าเหมาลำประมาณ 30-40% และจะเพิ่มจุดบินจากเชียงใหม่และภูเก็ตไปยังจุดบินในจีนมากขึ้น อาทิ ภูเก็ต-เซี่ยงไฮ้ เชียงใหม่-เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น และเน้นการเปิดจุดบินเมืองรอง เช่น อู่ซี ยี่อู๋ เป็นต้น รวมถึงการบินเสริมให้กับนกสกู๊ตในบางเส้นทาง
             ขณะที่จุดบินภายในประเทศ นกแอร์ก็อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดจุดบินกรุงเทพ-หาดใหญ่-เบตง เนื่องจากสนามบินเบตง จะเปิดในกลางปีหน้า ซึ่งก็ต้องใช้เวลาศึกษาก่อนจะตัดสินใจว่าจะเปิดบินเบตงหรือไม่

  ++ตั้งเป้าปีหน้าผู้โดยสาร10ล.
           อย่างไรก็ตาม
ในปี 63 บริษัทเชื่อมั่นว่าจะมีผลประกอบการดีกว่าปีนี้ โดยตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 10 ล้านคน จากคาดว่า 7-9 ล้านคนในปีนี้ และจะมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 85-87% จากปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 90% โดยในช่วงไฮซีซั่นอยู่ที่ 90-93% และช่วงโลว์ซีซั่นอยู่ที่ 85-86% ทั้งนี้ ในงวด 9 เดือนแรกของปี 62 มี Cabin Factor เฉลี่ย 90% แล้ว
          ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางของนกแอร์ ภายใต้การกุมบังเหียนการบริหารโดยตรงจากกลุ่มจุฬางกูรผู้ถือหุ้นใหญ่นกแอร์ในวันนี้