จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลประกอบการของธุรกิจสายการบินและโรงแรมที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ธุรกิจการบินของไทย อยู่ในสภาพยํ่าแย่ หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนได้จากผลการดำเนินงานของ 4 สายการบินหลักของไทย อย่าง การบินไทย, นกแอร์, บางกอกแอร์เวย์ส (BA) และไทยแอร์ เอเชีย (AAV) ที่มีผลขาดทุนรวมกันกว่า 1.32 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.20 พันล้านบาท
ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับธุรกิจการบิน แถมราคาหุ้นตอนนี้ก็ยังตํ่ากว่าราคา IPO เพราะทุกสายการบินล้วนขาดทุน โดยการบินไทยหนักสุด ขาดทุนสูงกว่าปีก่อนร่วม 7,066 ล้านบาท ตามมาด้วยนกแอร์ ที่แม้จะขาดทุนอยู่เช่นเคย แต่ก็พบว่ามีการขาดทุนลดลง 29.02% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ BA และ AAV จากที่เคยกำไรก็พลิกมาขาดทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้
การขาดทุนของธุรกิจการบินในปีนี้ เกิดจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงกว่าทุกปี เพื่อรักษาอัตราการบรรทุกเฉลี่ยของผู้โดยสารไม่ให้ตํ่าลง ท่ามกลางการเติบโตอย่างถดถอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวยุโรป เลือกเดินทางเที่ยวระยะสั้นมากขึ้น และการแข็งค่าของเงินบาท ที่ทำให้มาเที่ยวไทยแพงขึ้น ไทยจึงเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง
อีกทั้งปีนี้จะเห็นว่าจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกระทบการส่งออกของไทย ก็ทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศหรือคาร์โก ของธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
เราจึงจะเห็นว่าปีนี้สายการบินต้นทุนตํ่า ต่างงัดกลยุทธ์ขายตั๋วราคา 0 บาทมาใช้ เช่นเดียวกันการบินไทย ที่อัดโปรโมชันต่างๆ มาแข่งชิงลูกค้ากันชนิดถี่ยิบ เพื่อผลักดันการเพิ่มรายได้ เพราะในแง่ของค่าใช้จ่ายโดยรวม จะเห็นว่าบาทแข็งส่งผลดีต่อการลดลงของราคานํ้ามัน และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สายการบินทำกำไรจากการดำเนินธุรกิจได้
ดังนั้นการจะพยุงให้ธุรกิจการบินกลับมามีกำไรหรือแบกรับการขาดทุนให้ได้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ มาตรการการลดค่าใช้จ่ายจึงเป็นกุญแจสำคัญ
“ก่อนหน้านี้หลังจากการ บินไทยหั่นเบี้ยเลี้ยงเดินทางของฝ่ายบริหารลดลง 50% แล้ว ก็ยังเตรียมรีวิวสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อขอให้ซัพพลายเออร์ลดราคาลงอีก 10% รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในองค์กร เพื่อรับมือการดำเนินธุรกิจในปีหน้า ที่ก็คิดว่าจะมีสภาพใกล้เคียงกับปีนี้ เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะใช้วิธีการใดในการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า” นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว
แม้แต่ AAV ก็มีแผนชะลอรับมอบเครื่องบินใหม่ จากเดิมที่ในปีนี้จะรับมอบเครื่องบินใหม่จำนวน 5 ลำ ขณะนี้รับไว้เพียง 4 ลำ ส่วนในปี 2563 มีแผนจะรับมอบเครื่องบินใหม่อีก 5 ลำ ก็อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะชะลอไปก่อนหรือไม่ เป็นต้น
ในด้านของธุรกิจโรงแรมที่จดทะเบียนในตลท.นั้นส่วน ใหญ่จะยังคงมีกำไรอยู่ โดยบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT นำโด่งทั้งผลกำไรที่มากสุดหากเทียบกับกลุ่มโรงแรมอื่นๆ และยังเป็นเพียงบริษัทเดียวในกลุ่มโรงแรมที่มีกำไรเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากการเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป กำไรจากการขายโรงแรมทิโวลี เป็นต้น
ขณะที่โรงแรมอื่นๆ หากเทียบกับ 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นกำไรที่ลดลง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีต่างชาติเที่ยวไทยเติบโตเพียง 3% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักด้านการท่องเที่ยวของไทยก็เพิ่งจะมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
ส่วน 2 บิ๊กแบรนด์เนม อสังหาฯที่นำธุรกิจโรงแรมเข้าจดทะเบียนในตลท.นั้น พบว่าในปีนี้บริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC (บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ป) มีกำไรเพิ่มขึ้น 191.89% สาเหตุหลักมาจากมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในโรงแรมที่มีการทำรีแบรนด์ใหม่ดึงเชนระดับโลกมาบริหาร อาทิ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค
ด้านบริษัทเอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ของสิงห์เอสเตทที่เดิมมีกำไรแต่พลิกกลับมาขาดทุนในปีนี้ เกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดตัวโครงการใหม่ และค่าใช้จ่ายในการซื้อกิจการโรงแรมเอ้าท์ริงเกอร์ ที่เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษครั้งเดียวในปีนี้
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,524 วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2562