รื้อแผนซื้อฝูงบิน 38 ลำ   จี้บอร์ดบินไทย 6 เดือนจบ

10 ต.ค. 2562 | 14:24 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2562 | 18:02 น.
4.7 k

วันนี้ (10 ต.ค. 2562)  นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแลการบินไทย ได้เดินทางมายังการบินไทย เพื่อรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของการบินไทย และเป็นครั้งแรกที่มีการหารือร่วมกับบอร์ดการบินไทยและฝ่ายบริหาร 

 รื้อแผนซื้อฝูงบิน 38 ลำ   จี้บอร์ดบินไทย 6 เดือนจบ

นายถาวร  กล่าวว่า นับจาก 59 ปีในการดำเนินธุรกิจของการบินไทย ที่ผ่านมาก็มีกำไรมาตลอด  มาขาดทุนในช่วงหลังๆติดต่อกัน ทำให้มีผลการขาดทุนสะสม 2 หมื่นกว่าล้านบาท  ซึ่งหากเทียบกับมูลค่าทางธุรกิจของบริษัท ก็ถือว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ แต่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง และในฐานะรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลการบินไทย  ก็มีความเป็นห่วง 

 

ดังนั้นการในเดินทางมารับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของการบินไทย จึงได้มอบการบ้านให้ผู้บริหารและบอร์ดการบินไทย รายงานข้อเท็จจริงและแนวทางบริหารจัดการของบริษัท ให้รับทราบเป็นระยะ  โดยมีทั้งหมด 6 ข้อ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ที่ต้องการรับทราบข้อเท็จจริง

 รื้อแผนซื้อฝูงบิน 38 ลำ   จี้บอร์ดบินไทย 6 เดือนจบ

1.แผนฟื้นฟูและแผนบริหารธุรกิจฉบับใหม่ ภายหลังทบทวนการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำออกไปก่อน 6 เดือน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทอยู่ในสภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงขอทราบผลประกอบการรายเดือน และให้บริษัทจัดทำแผนฟื้นฟูบริษัทและแผนบริหารธุรกิจฉบับใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน 

2.การจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำ ซึ่งคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้ทบทวนออกไปก่อน และนำเสนอใหม่ภายใน 6 เดือน จึงขอให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รายงานความคืบหน้าการทบทวนแผนการจัดหาเครื่องบินเป็นประจำทุกเดือนจนกว่าแผนจะแล้วเสร็จ

 รื้อแผนซื้อฝูงบิน 38 ลำ   จี้บอร์ดบินไทย 6 เดือนจบ

3.แผนการบริหารจัดการและโครงสร้างบริษัท เนื่องจากมีผู้บริหารเกษียณอายุราชการหลายตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หน่วยธุรกิจบริการการบิน(D1)และตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายบริหารงานกฏหมายและบริหารงานทั่วไป(A1) 
 
ขณะนี้ยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ว่างแต่อย่างใด แต่ให้ผู้บริหารที่มีอยู่รักษาการในตำแหน่ง ซึ่งการรักษาการแทนบางตำแหน่งอาจขัดต่อข้อกำหนดการรับรองของผู้ดำเนินการเดินอากาศตามมาตรฐานสากล หรือองค์กรการบินระหว่างประเทศ จึงขอให้พิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ รอบด้าน รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรจุผู้มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์บริหารงาน โดยยึดหลักธรรมาภิบาล เข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าว 
    รื้อแผนซื้อฝูงบิน 38 ลำ   จี้บอร์ดบินไทย 6 เดือนจบ
การแต่งตั้งผู้รักษาการแทน ซึ่งมีงานในตำแหน่งเดิมมากอยู่แล้ว อาจทำให้มีภาระงานมากขึ้น จนกระทบต่อผลประกอบการและประสิทธิภาพของบริษัท และกรณีบริษัทจะมีการจัดตั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลงหน่วนงานขึ้นมาใหม่ในบริษัท ก็ขอให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน โดยใช้ค่า KPI การวิเคราะห์ SWOT และผลประโยชน์ของบริษัท เป็นหลัก รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลในบริษัทฯให้คำนึงถึงระบบคุณธรรม ความโปร่งใส และเป็นผู้มีคุณสมบัติประจำตำแหน่งครบถ้วนด้วย

4.แผนการสำรองกระแสเงินสด และการเสริมสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท ซึ่งปรากฏข่าวสารทางสื่อมวลชนว่าบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องของกระแสเงินสดที่มีไม่เพียงพอ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัทอย่างยิ่ง จึงต้องกำกับให้อยู่ในมาตรฐานความมั่นคงทางการเงินของบริษัทอย่างเคร่งครัด ตามมาตรฐานการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และให้บริษัทรายงานสภาพปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหา พร้อมสภาวะกระแสเงินสดให้ทราบเป็นประจำทุกเดือน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

 รื้อแผนซื้อฝูงบิน 38 ลำ   จี้บอร์ดบินไทย 6 เดือนจบ  
5.ขอให้รายงานความก้าวหน้า เรื่องการลงทุนของบริษัทในศูนย์ซ่อมบำรุง(MRO)ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ทุก 15 วัน โดยให้การดำเนินงานของบริษัทยึดตามแผนอีอีซี ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาลโดยเคร่งครัด และให้เร่งหาข้อสรุปโดยเร็ว
 
6.ขอทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาในบริษัทที่ยังคงยืดเยื้อไม่เรียบร้อย และเป็นปัญหาเรื่องต้นทุน การหารายได้ และผลประกอบการของบริษัท คือ การเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทโรลรอยซ์ จากกรณีเครื่องบินต้องหยุดทำการบินจอดรออะไหล่เป็นเวลานานจนเกิดความเสียหายและสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ,การชำระค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ เทรนท์ 800 ของบริษัทโรลรอยซ์
  
รวมไปถึงการจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้วจำนวน 19 ลำ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่น ค่าจอดเครื่องบิน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นอัตราก้าวหน้าวันละ 1 หมื่นบาทต่อลำ และเรื่องอื่นๆเช่น การกำหนดเส้นทางการบิน วิธีการ มาตรการการจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน 
 
ทั้งนี้ข้อสั่งการทั้ง 6 ข้อนี้ ได้ขอให้ดีดีการบินไทย นำเสนอบันทึกให้บอร์ดบริษัททุกคนรับทราบ เพื่อให้การบริหารงานของบริษัทเป็นไปในแนว ทางเป้าหมาย และบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกันที่จะทำให้การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติกลับมามีกำไร และเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคง ส่วนปัญหาการขาดทุน 2 หมื่นล้านบาทนั้นถือเป็นเรื่องจิ๊บจ้อย นายถาวร กล่าวในที่สุด